Author Topic: ร้อนจัดดันค่าไฟ พ.ค. - ส.ค. เพิ่ม เพิ่งตื่นรณรงค์คนไทยประหยัด  (Read 2199 times)

Offline ToppyRacingClub

  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 1382
http://www.dailynews.co.th/businesss/52367

ร้อนจัดดันค่าไฟ พ.ค. - ส.ค. เพิ่ม เพิ่งตื่นรณรงค์คนไทยประหยัด



นับวัน…ราคาพลังงานยิ่งแพงขึ้น โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะพุ่งสูงปรี๊ดไปจนถึงเท่าใด และเมื่อใด หากในสำนึกของคนไทยทั้งประเทศยังให้ความสนใจกับการประหยัดพลังงานกันน้อยมาก เห็นได้จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มีมากถึงวันละ 1.04 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 10% โดยการใช้น้ำมันเบนซินมีมากถึงวันละ 20.5 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้วันละ 20.4 ล้านลิตรในเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ใช้กันวันละ 55.1 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3% ก๊าซธรรมชาติหรือซีเอ็นจี ใช้กันวันละ 7.7 ล้าน กก. เพิ่มขึ้น 4%เห็นตัวเลขการใช้พลังงานแล้วน่าใจหาย เพราะดูเหมือนว่าราคาที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นตัวหยุดยั้งการใช้พลังงานลดลงได้แม้แต่น้อย แต่กลับมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเหมือนกับว่าประเทศไทยมีบ่อน้ำมันเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันอุณหภูมิโลกที่แปรปรวน อากาศในไทยร้อนจัด โดยอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงถึง 36.8 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีค ทุบสถิติเป็นครั้งที่ 4 ในเวลา 14.30 น. พุ่งสูงขึ้นไปถึง 25,178 เมกะวัตต์

ณ วันนี้นอกจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นแล้ว ราคาพลังงานอื่น ๆ ได้ขยับปรับขึ้นไปยกแผง เป็นตัวผลักดันให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้คำนวณตัวเลขแบบออกมาโดยประมาณแล้ว ต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้นอีกราว 30 สต.ต่อหน่วย ตามราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับสูงขึ้นตามน้ำมันตลาดโลก
 
ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาการันตีแล้วว่าค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.–ส.ค.นี้ ปรับขึ้นแน่นอน...ขณะที่รัฐบาลไม่เข้าไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ทั้งหมดเช่นกัน ส่วน กฟผ.เอง ยังจุกอกไม่หายหลังจากในรอบเดือน ม.ค.–เม.ย. 55 ได้เข้าไปอุ้มค่าไฟฟ้าส่วนหนึ่งในวงเงิน 8,000 ล้านบาทไปแล้ว
 
ในเวลาเช่นนี้เรกูเลเตอร์และรัฐบาลอาจเข้ามาช่วยบรรเทาอารมณ์ ป้องกันไม่ให้ชาวบ้านออกมาด่า คือ การเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าในระดับหนึ่งแทนปรับขึ้นเต็มที่ที่หน่วยละ  30-40 สต.  แต่อาจเหลือเพียง 15-20 สต. ต่อหน่วย โดยนำเงินของ 3 การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ กฟผ. ที่ยังไม่ได้ลงทุนหรือที่เรียกกันว่า คอลแบ็คที่ยังมีเหลืออีกราว 3,200 ล้านบาท เข้ามาอุดหนุนซึ่งช่วยชดเชยได้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของชาวบ้าน เถ้าแก่ อาโกทั้งหลาย ที่ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า

เบื้องต้นวันที่ 23 เม.ย.นี้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะพิจารณาปัจจัยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าภาพรวมทั้งหมด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการเอฟที เคาะตัวเลขการปรับขึ้นค่าเอฟทีรอบ พ.ค.-ส.ค. 55 ที่ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งจะตัดสินว่าค่าไฟจะปรับขึ้นเท่าใด
กันแน่ เรียกได้ว่างานนี้ไม่ปรับขึ้นคงไม่ไหวแน่  เพราะต้นทุนทุกอย่างต่างเพิ่มขึ้นหมด

สุดท้ายแล้ว... กรรม...ก็ตกอยู่กับผู้บริโภคอีกแล้ว ทั้งข้าวของ ทั้งค่าบริการต่าง ๆ ที่แพงขึ้นทุก ๆ อย่าง  แต่ในฐานะของเรกูเลเตอร์ก็ต้องดูด้วยว่า การปรับขึ้นค่าไฟจะไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป รวมทั้งต้องไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมด้วย  แม้ว่าทาง กฟผ.เองได้ระบุมาชัดเจนว่า จะขอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกหน่วยละ 25 สตางค์ ก็ตาม

หากปล่อยราคาพลังงานที่สูงปรี๊ดจู่โจมต่อเนื่องเช่นนี้ มีหวังเศรษฐกิจได้สะดุดกันถ้วนหน้าแน่นอน ดังนั้น ครม.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่จังหวัดภูเก็ต จึงตัดสินใจใช้ไม้แข็งกับบรรดาส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจก่อน เพื่อนำร่องสร้างกระแสให้คนไทยหันมาสนใจกับการประหยัดพลังงาน ด้วยการออกมาตรการให้ทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต้องประหยัดพลังงานทั้งการใช้ไฟฟ้าและน้ำมัน ให้ได้อย่างน้อย 10%

ในส่วนของไฟฟ้า ได้กำหนดให้การจัดซื้ออุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดต้องเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน, กำหนดเวลาปิด-เปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียส การตั้งงบประมาณเพื่อล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือนโดยห้ามเปลี่ยนงบประมาณไปใช้เรื่องอื่น กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น หยุดเฉพาะชั้นคู่ หรือสลับให้หยุดเฉพาะชั้นคี่ ปิดลิฟต์บางตัวในเวลาที่ใช้งานน้อย และการรณรงค์การขึ้นลงอาคารชั้นเดียวไม่ให้ใช้ลิฟต์ เป็นต้น

ส่วนมาตรการลดใช้น้ำมัน จะมีทั้งการจัดให้มีระบบใช้รถร่วมกัน-ทางเดียวกันไปด้วยกัน หรือคาร์พูล โดยให้ส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันจัดระบบใช้รถแบบรวมศูนย์ เพื่อให้ประหยัดสูงสุด กำชับพนักงานขับรถให้ขับรถในอัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด รถที่ใช้น้ำมันเบนซิน ของราชการและรัฐวิสาหกิจทุกคันในจังหวัดที่มีแก๊สโซฮอล์จำหน่ายจะกำหนดให้ใช้แก๊สโซฮอล์เท่านั้น หากมีก๊าซธรรมชาติเหลว หรือซีเอ็นจี จำหน่ายให้ติดตั้งก๊าซซีเอ็นจีควบคู่ไปด้วย โดยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซซีเอ็นจีให้เติมซีเอ็นจี แต่ถ้าอยู่นอกพื้นที่ก็ให้เติมแก๊สโซฮอล์

   ทั้งนี้กระทรวงพลังงานคาดว่า หากส่วนราชการสามารถลดการใช้พลังงานได้ตามเป้าหมาย 10% จะทำให้ลดการใช้พลังงานลงคิดเป็นมูลค่า 1,619 ล้านบาท โดยแยกเป็น ลดการใช้ไฟฟ้า 316.9 ล้านหน่วย คิดเป็น 950 ล้านบาท และลดการใช้น้ำมัน 19.1 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าถึง 669 ล้านบาท
     
ไม่เพียงเท่านี้ยังมีมาตรการระยะยาว ที่กำหนดให้อาคารของรัฐที่เข้าข่ายอาคารควบคุมก่อนปีงบประมาณ 55 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ การใช้พลังงานไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน การจัดการใช้พลังงานภายในปีงบประมาณ 56

ขณะเดียวกันให้สำนักงบประมาณจัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขเพื่อให้หน่วยงานราชการสามารถจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือยานพาหนะใหม่มาใช้แทนของเดิมที่หมดสภาพ และสิ้นเปลืองพลังงาน รวมถึงการจัดการอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือยานพาหนะเดิม ไม่ให้นำไปใช้ในที่อื่น และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

มาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่…คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าแต่ละหน่วยงานจะสนองตอบมาตรการได้เท่าใด แต่ที่แน่ ๆ มติ ครม. ที่ออกมาอาจจะดูเหมือนเสียงไม่ดังเพียงพอ นายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จึงสำทับกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ด้วยการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ ช่วยชาติ” โดยการปิดไฟที่ทำเนียบรัฐบาล 1 ดวง ในเวลา 13.00-14.00 น. ที่สำคัญยังให้ ครม. ถอดสูทถอดแจ๊กเกตในที่ประชุม พร้อมเปิดแอร์อุณหภูมิสูง 25-27 องศาเซลเซียส เพื่อส่งสัญญาณการประหยัดพลังงานกับคนทั้งประเทศ

ผลพวงจากที่รัฐบาลได้เชิญชวนให้ประชาชนลดการใช้พลังงาน ในการช่วยกันปิดไฟอย่างน้อย 1 ดวงรวมถึงการเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่  26 องศาเซลเซียส ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ของวันที่ 10 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาในกิจกรรมดังกล่าว สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึง 515 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงได้ 177 ตัน และลดการใช้น้ำมันลง 56,736 ลิตร     

แนวทางการช่วยกันประหยัดไฟฟ้าอย่างง่าย และทุกคนสามารถทำได้ เช่น ปิดไฟ 1 ดวง หรือถอดปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้ออก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส และปิดก่อนเลิกใช้ 30 นาที สามารถลดการใช้พลังงานได้ 6%  ตั้งตู้เย็นห่างผนัง 15 ซม. ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 10% ปิดโทรทัศน์เมื่อไม่มีคนดู หรือเลือกใช้โทรทัศน์ที่มีขนาดเล็กลง ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ 18 วัตต์ แทนหลอดไส้ 100 วัตต์  ถอดปลั๊กเตารีดก่อนรีดผ้าเสร็จ  2-3 นาที ขับรถไม่เกิน 90 กม. ต่อ ชม. ถอดปลั๊กไฟฟ้ากรณีที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

แม้ว่ารัฐบาลจะลงมาแสดงบทบาทประหยัดพลังงานด้วยสารพัดวิธีการแล้ว คนไทยทั้งประเทศคงนิ่งดูดายอีกไม่ได้แล้ว...  แต่เหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่าที่ผ่านมา…หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด...