Racing Club World > Kid Zone

ทีวีตัวการทำให้เด็กบริโภคมากขึ้น

(1/1)

O'Pern:
นับจากการถือกำเนิดและออกอากาศของโทรทัศน์ในประเทศไทย รายการโทรทัศน์ได้มีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในด้านรูปแบบเทคนิคการผลิต ความหลากหลายของเนื้อหา จำนวนช่องออกอากาศ ฯลฯ แต่สิ่งที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือพื้นที่และ***ส่วนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

จากการสำรวจของโครงการส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก (กสด.)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)พบว่านอกจากรายการโทรทัศน์แล้วสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ก็มีผลต่อเด็กสูงด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในเรื่องทัศนคติที่มุ่งเน้นการบริโภค ผู้ผลิตจำนวนมากยังไม่คำนึงถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่วัยของเด็ก

มพด. จึงร่วมมือกับเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมด้านสื่อศึกษา มาอย่างต่อเนื่องจากทั่วประเทศ 17 จังหวัด จำนวน 1,349 ตัวอย่างศึกษาข้อมูลพื้นฐานเรื่องสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์และรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2547 และนี่เป็นความคิดเห็นที่ใครหลายคนก็ยากจะปฏิเสธ

สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสม
จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายต่อสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พบว่า โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ คว้าแชมป์โฆษณาไม่เหมาะสม วิธีการนำเสนอของโฆษณาทางโทรทัศน์ เน้นมอมเมา, ส่อนัยทางเพศ และโน้มน้าว ล่อลวง ให้ใช้สินค้าบ่อยๆ เด็กเกิดความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้ชม และคล้อยตามความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณา เป็นผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็กหลังการรับสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์

ผลกระทบทางพฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสม คือเด็กเกิดความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสนองตอบความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณาจนถึงหมกมุ่นและเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศ และ/หรือ อยากทดลองทางเพศ

1. โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ คว้าแชมป์โฆษณาไม่เหมาะสม จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมาย ต่อสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พบว่า

อันดับ 1 โฆษณาสินค้าประเภทเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 32.7
อันดับ 2 โฆษณาสินค้าประเภทเครื่องอุปโภค ร้อยละ 11.7 ส่วน
อันดับ 3 คือโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องสำอางและแป้งกับโฆษณาสินค้าระบบโทรศัพท์และเครื่องโทรศัพท์ ร้อยละ 9.7 เท่ากัน ส่วนโฆษณาสินค้าประเภทขนมคบเคี้ยว หมากฝรั่งและลูกอม ขนมหลอกเด็ก ได้ไปร้อยละ 6.2 ตามลำดับ

2. วิธีการหลอกล่อเด็กของโฆษณาทางโทรทัศน์ เน้นมอมเมาส่อนัยทางเพศ และโน้มน้าว ล่อลวง ให้ใช้สินค้าบ่อยๆ จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายต่อสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กพบว่าสื่อโฆษณาที่ไม่เหมาะสมมีวิธีการนำเสนอ ที่สำคัญๆ คือ

อันดับที่ 1 เน้นที่อบายมุข,มอมเมา,สิ่งมึนเมา,การพนัน,ตลอดจนเป็นสินค้าประเภทลูกอม-ขนมหวาน,น้ำอัดลม,เครื่องดื่มชูกำลัง,บุหรี่ ร้อยละ 33.3 ซึ่งสินค้าที่นิยมใช้วิธีการนี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 71.9 , สินค้าขนมคบเคี้ยว หมากฝรั่งและลูกอม ร้อยละ 6 และสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและแป้ง ร้อยละ 4.9

อันดับที่ 2 ส่อนัยทางเพศ, ลามกอนาจาร, แสดงออกทางกามารมณ์,เหยียดหยามเพศหญิง ฯลฯ ร้อยละ 28.1 ซึ่งสินค้า 3 อันดับแรกที่นิยมใช้วิธีการนี้ ได้แก่ สินค้าเครื่องอุปโภคร้อยละ 37.2 ในสินค้ากลุ่มนี้ระบุเฉพาะโฆษณาก๊อกน้ำซันวา สูงถึงร้อยละ 99.3 ,สินค้าเครื่องสำอางและแป้ง ร้อยละ 18.4 และสินค้าถุงยางอนามัย ร้อยละ 8.2

อันดับที่ 3 ใช้กลวิธีการชักจูง-โน้มน้าว-ล่อลวง-บิดเบือนด้วยการทำเป็นแบบอย่าง และ/หรือนำผู้เป็นแบบอย่าง(หรือสัญลักษณ์) มาเป็นผู้นำเสนอ และ/หรือใช้ผู้นำเสนอที่เหมาะสมกับสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคคล้อยตาม เช่น นำเสนอภาพการใช้สินค้าบ่อยๆ , ใช้สินค้าแล้วทันสมัย, ใช้แล้วได้ผล ไปจนถึงใช้แล้วแข็งแรง,เหาะได้ ฯลฯร้อยละ 24.1 ซึ่งสินค้า 3 อันดับแรกที่นิยมใช้วิธีการนี้ ได้แก่ สินค้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องโทรศัพท์ร้อยละ 33.5 , สินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 32 และสินค้าขนมคบเคี้ยว หมากฝรั่งและลูกอม ร้อยละ 9.2

3. เด็กเกิดความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้ชม และคล้อยตามความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณา เป็นผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็กจากความคิดเห็นที่สำรวจจากความคิดเห็นที่สำรวจด้านผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็กจากการรับสื่อโฆษณาที่ไม่เหมาะสม พบว่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับเด็ก ดังนี้

อันดับที่ 1 เด็กเกิดความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้ชมและคล้อยตามความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณา เช่น ใช้สินค้าแล้วเก่งอย่างภราดร, คนกินเหล้าเป็นคนดีเพราะบริจาคโลหิต, ซื้อสินค้าเพราะอยากได้ของแถม ตลอดจนสามารถใช้สินค้าได้บ่อยๆ ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะสินค้าประเภทโทรศัพท์ ร้อยละ 25.9 ซึ่งกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบนี้ ได้แก่สินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 43.5, สินค้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องโทรศัพท์ ร้อยละ 30.3 และสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 5.7

อันดับที่ 2 ทำให้เด็กคุ้นเคยกับเรื่องเพศ หรือมีอคติทางเพศ ฯลฯ ร้อยละ 24.7 ซึ่งกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบนี้ ได้แก่สินค้าเครื่องอุปโภค ร้อยละ 45.6 ซึ่งในจำนวนนี้ระบุว่าเป็นโฆษณาก๊อกน้ำซันวา ถึงร้อยละ 90.8 , สินค้าเครื่องสำอางและแป้ง ร้อยละ 31.8และสินค้าถุงยางอนามัยร้อยละ 9

อันดับที่ 3 เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากอาหารขยะ,สารเสพติด,สารเคมี,ผงชูรส ฯลฯ ร้อยละ 23.7 ซึ่งกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบนี้ ได้แก่สินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 55.6 , สินค้าขนมคบเคี้ยว หมากฝรั่งและลูกอม ร้อยละ 16.5 และสินค้าเครื่องสำอางและแป้ง ร้อยละ 7.8

4. เด็กเกิดความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสนองตอบความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณา จนถึงหมกมุ่นและเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศ และ/หรือ อยากทดลองทางเพศ เป็นผลกระทบต้นๆ หลังชมสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ความคิดเห็นต่อผลกระทบทางพฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดเห็นว่าอาจจะเกิดผลกระทบกับเด็กที่สำคัญๆดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 เกิดความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสนองตอบความเชื่อที่ปลูกฝังผ่านสื่อโฆษณา ร้อยละ 27.6 ซึ่งกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบนี้ ได้แก่ สินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 47.3 , สินค้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องโทรศัพท์ ร้อยละ 29 และสินค้าขนมคบเคี้ยว หมากฝรั่งและลูกอม ร้อยละ 5.9 อันดับที่ 2 หมกมุ่นและเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศ และ/หรือ อยากทดลองทางเพศร้อยละ 8.3

ซึ่งกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบนี้ ได้แก่สินค้าเครื่องอุปโภค ร้อยละ 33 ในกลุ่มนี้ระบุเฉพาะโฆษณาก๊อกน้ำซันวา 100 % , สินค้าถุงยางอนามัย ร้อยละ 23.2 และสินค้าเครื่องสำอางและแป้ง ร้อยละ 22.3 รายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก

จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมาย ต่อรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พบว่ารายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ เช่น ชั่วโมงพิศวง, เรื่องจริงผ่านจอ, มิติพิศวง ฯลฯ คว้าแชมป์รายการทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก โดยมีละครน้ำเน่าหลังข่าว แนวชิงรักหักสวาทตามมาเป็นที่สองรายการทีวีทุกวันนี้ขายเนื้อหารุนแรง / สยองขวัญภาพการแสดงความรุนแรงทางอารมณ์ตลอดจนเรื่องราวไสยศาสตร์และเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นเรื่องหลัก รายการทีวีปัจจุบันปลูกฝังและทำให้เด็กซึมซับ เคยชินความรุนแรง, เร้าความกลัวอย่างไร้เหตุผล, งมงายไสยศาสตร์, สร้างจินตนาการผิดๆให้เด็ก ฯลฯ เป็นด้านหลัก

1. รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่มีส่วนทำให้เด็กไทยทุกวันนี้ก้าวร้าวนิยมและตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรง มองความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติ,กลัวผี ความมืดและการอยู่คนเดียว รายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ เช่น ชั่วโมงพิศวง, เรื่องจริงผ่านจอ, มิติพิศวง ฯลฯ คว้าแชมป์รายการทางโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก โดยมีละครน้ำเน่า หลังข่าว แนวชิงรักหักสวาทตามมาเป็นที่สอง

จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายพบว่า รายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ได้แก่ รายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ ร้อยละ 20.8, รายการละครหลังข่าวและภาพยนตร์ ร้อยละ 15.3 โดยมีรายการ Talk show – วาไรตี้ ครองอันดับ 3 ร้อยละ 10

2. รายการทีวีทุกวันนี้ขายเนื้อหารุนแรง / สยองขวัญ ภาพการแสดงความรุนแรงทางอารมณ์ ตลอดจนเรื่องราวไสยศาสตร์และเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นเรื่องหลัก

จากการสำรวจความคิดเห็นต่อวิธีการนำเสนอของรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พบว่า รายการโทรทัศน์มีวิธีการนำเสนอหรือจุดขาย ที่สำคัญๆ ได้แก่

อันดับที่ 1 เนื้อหารุนแรง / สยองขวัญ ภาพการแสดงความรุนแรงทางอารมณ์ ตลอดจนเรื่องราวไสยศาสตร์และเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ร้อยละ 34.1โดยรายการโทรทัศน์ที่นิยมใช้วิธีการนี้ ได้แก่รายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ เช่นรายการเกมพิศวง,ชมรมขนหัวลุก,ชั่วโมงพิศวง,แดนสนธยา,มิติพิศวง,เรื่องจริงผ่านจอ เป็นต้น ร้อยละ 56.1, รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 13.7 และรายการกีฬาร้อยละ 7.4

อันดับที่ 2 เป็นรายการที่มีพฤติกรรมไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี, ตลก-หยาบคาย, นินทาดารา,ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ฯลฯ ร้อยละ 18.9 ได้แก่ รายการ Talk show – วาไรตี้ เช่น Z ทีวี,ชูรัก-ชูรส,ตีสิบ,ถึงลูกถึงคน,นั่งยางโชว์,เปรี้ยว หวาน มันเผา,แฟนซีโดน,ยุทธการบันเทิง,รักยิ้ม,สภาโจ๊ก,สาระแนจัง,โอโน่โชว์ ฯลฯ ร้อยละ 25.1, รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 24.7 และรายการตลก/จำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวตลกขบขัน ร้อยละ 17.6

อันดับที่ 3 เน้นการนำเสนอเรื่องราวทางเพศ, ลามกอนาจาร,> พิธีกรแสดงออกทางเพศด้วยคำพูด และการกระทำ, พิธีกรเบี่ยงเบนทางเพศ, พิธีกรแต่งตัวไม่เหมาะสม(โป๊) ตลอดจนการนำเรื่องพฤติกรรมทางเพศที่ไม่จริงมาเผยแพร่ ฯลฯ ร้อยละ 13 โดยรายการโทรทัศน์ที่นิยมใช้วิธีการนี้ ได้แก่ รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 40.3, รายการ Talk show – วาไรตี้ ร้อยละ 21.6

3. รายการทีวีปัจจุบันปลูกฝังและทำให้เด็กซึมซับ เคยชินความรุนแรง, เร้าความกลัวอย่างไร้เหตุผล, งมงายไสยศาสตร์, สร้างจินตนาการผิดๆให้เด็ก ฯลฯ เป็นด้านหลัก

จากการแสดงความคิดเห็นต่อผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็กจากการรับชมรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กพบว่า รายการทีวีในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบให้เด็ก ดังนี้

อันดับที่ 1 ปลูกฝังและทำให้เด็กซึมซับ เคยชินความรุนแรง, เร้าความกลัวอย่างไร้เหตุผล, งมงายไสยศาสตร์, สร้างจินตนาการผิดๆให้เด็ก ฯลฯ ร้อยละ 33.2 รายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลนี้ ได้แก่ รายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ ร้อยละ 57 , รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 13.8 และรายการกีฬา ร้อยละ 7.4

อันดับที่ 2 ซึมซับพฤติกรรมไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ร้อยละ 13.2 ประกอบด้วย รายการตลก/จำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวตลกขบขัน ร้อยละ 24.1 , รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 21.3 และรายการ Talk show – วาไรตี้ ร้อยละ 16.3

อันดับที่ 3 เสียการเรียน เพราะต้องอยู่ดูดึก, ไร้สาระ, มีมากและบ่อยเกินไปร้อยละ 12.8 ได้แก่ รายการตลก/จำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวตลกขบขัน ร้อยละ 21 , รายการภาพยนตร์การ์ตูน ร้อยละ 16.2 และรายการ Talk show – วาไรตี้ ร้อยละ 14.5

4. รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่มีส่วนทำให้เด็กไทยทุกวันนี้ก้าวร้าวนิยมและตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรง มองความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติ,กลัวผี ความมืดและการอยู่คนเดียว ความคิดเห็นต่อผลกระทบทางพฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กที่อาจเกิดขึ้นจากการรับชมรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดเห็นว่าอาจจะเกิดผลกระทบกับเด็กที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 ก้าวร้าว นิยมและตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรงมองความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติ,กลัวผี ความมืด และการอยู่คนเดียว ร้อยละ 22.2รายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลนี้ ได้แก่รายการจำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญ ร้อยละ 55.8,รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 12.7 และรายการกีฬา ร้อยละ 9.3

อันดับที่ 2 เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ร้อยละ 10รายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรกที่อาจทำให้เกิดผลนี้ ได้แก่รายการละครและภาพยนตร์ ร้อยละ 26.7, รายการตลก/จำลองจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแนวตลกขบขัน ร้อยละ 18.5 และรายการ Talk show – วาไรตี้ ร้อยละ12.6

บทสรุป
ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างแม้จะไม่มากนัก แต่ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภคที่เฝ้าจับตามองสื่อโฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่ปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการโน้มน้าวการบริโภคหรือปลูกฝังทัศนคติ ความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมทางสังคมรวมถึงเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคนั้นๆ จึงถือเป็นเสียงสะท้อนที่ผู้ผลิตไม่ควรมองข้าม

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการนำเสนอสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์และรายการโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงเป็นโครงสร้างอย่างแน่นหนาภายใต้ระบอบทุนนิยม ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ค่าเช่าเวลา ช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมความนิยมในรายการหรือสถานีโทรทัศน์ เป็นตัวกำหนดหลัก ขณะที่ผู้เล่นสำคัญๆ ของแต่ละช่องก็มีผู้กุมเวลาอันเป็นเงื่อนไขสำคัญในฐานะ “ผู้ผลิต” ที่ได้รับเวลาสัมปทานทั้งเป็นและไม่เป็นทางการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องหารายได้มาให้สถานี รายการ ฯลฯ อยู่ได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากเรามองโทรทัศน์ในแง่มุมทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลักโอกาสที่จะมองเห็นการพัฒนารูปแบบรายการ เนื้อหา และวิธีนำเสนอที่เป็นธรรมและสร้างสรรค์สำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก คงเป็นไปได้ยากยิ่ง

แต่หากมองสื่อในฐานะผู้บริโภคแล้ว เราจะพบว่าโอกาสในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมีความเป็นไปได้มากมายทั้งในฐานะปัจเจกของแต่ละครอบครัวที่จะต้องเฝ้าระวัง แสดงทัศนคติ สะท้อนความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์สื่อ เพื่อปกป้องเด็กในครอบครัวของท่านเองให้พ้นจากผลกระทบด้านลบของสื่อโทรทัศน์ และในฐานะของผู้บริโภคในสังคมรวมหมู่การรวมพลังสะท้อนความคิดเห็นสู่ผู้ผลิต ผู้สนับสนุนรายการ เจ้าของสินค้า สถานีโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการหรือองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานี อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนที่สร้างสรรค์และเหมาะสมสำหรับเด็กที่สำคัญเราในฐานะผู้บริโภคไม่ควรจะร้องขอแต่ต้องเป็นผู้กำหนด และเข้าไปส่วนร่วมเล่นในฐานะผู้เล่นคนหนึ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้บริโภคก็คือผู้สนับสนุนสื่อโทรทัศน์ให้สามารถอยู่รอดดำเนินกิจการต่อไปได้นั่นเองทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของเด็กไทยทุกคน

ข้อมูลจาก โครงการส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก (กสด.)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด)

เดียร์ ล้อขาว:
อืม... น่าคิด 8)

ผมไปอ่านหนังสือเจอมาเค้าบอกว่า การเปิดทีวีให้เด็กดู (ในเด็กเล็ก) จะทำให้เด็กพัฒนาการ(พูด) ช้า

เค้าบอกว่า ควรจะพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ  แม้ว่าเค้ายังเล็กอยู่ หรือยังพูดไม่ได้ก็เหอะ

จะช่วยฝึกเรื่องการพัฒนาการเรื่องการโต้ตอบ ของเด็กได้ดี

zpeed:
I'm glad I have 2-Disney Channel, 2-Noggin, Discovery Kid, Cartoon Network for my kid.  But I did let my son watch Kill Bill #1 with me.  That is pretty movie for the kid.  I try to explain to him that just an act not real.  ;D ;D  Both of my kid learn english from TV before they go to school.  They speak better than me hahahaha  ;D

grandprix:

--- Quote from: เดียร์ ล้อขาว on March 18, 2005, 10:22:24 pm ---อืม... น่าคิด 8)

ผมไปอ่านหนังสือเจอมาเค้าบอกว่า การเปิดทีวีให้เด็กดู (ในเด็กเล็ก) จะทำให้เด็กพัฒนาการ(พูด) ช้า

เค้าบอกว่า ควรจะพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ  แม้ว่าเค้ายังเล็กอยู่ หรือยังพูดไม่ได้ก็เหอะ

จะช่วยฝึกเรื่องการพัฒนาการเรื่องการโต้ตอบ ของเด็กได้ดี



--- End quote ---

ใช่แล้ว ผมก็เคยอ่านเจอเหมือนกัน เกี่ยวกับการพัฒนาการของเด็กจะช้า หากเฝ้าหน้าจอมากๆ
ทีแรกยัง งง อยู่เลย ว่าพัฒนาการน่าจะเร็ว เพราะรับรู้สิ่งต่างๆ จาก TV แต่กลายเป็นว่ารับรู้สิ่งยั่วยุทาง TV มาซะมากกว่า และกลายเป็นความเก็บกด หรือระบายออกมาในทางก้าวร้าว
อย่างพวกโฆษณาโลชั่น โคโลญท์ต่างๆ แนวคิดไม่เข้าท่าเลยผมว่า

Navigation

[0] Message Index

Go to full version