Author Topic: ผู้บริหารต้องเรียนรู้ตลอดเวลา  (Read 3834 times)

Offline O'Pern

  • fear is a mind killer
  • Administrator
  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 7411
  • don't let your fear stand in the way of your dream
    • racing club
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้บริหารต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ


 
หากต้องกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการพัฒนาคนในระดับปฏิบัติการ น้อยครั้งที่ระดับผู้บริหารซึ่งเป็น กลุ่มคนสำคัญที่สุดและต้องได้รับการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอจะถูกกดดันให้ต้องแสวงหาความรู้ใหม่อย่างเป็นกิจจะลักษณะและต่อเนื่อง แต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่ทำให้รูปแบบการเรียนรู้ของคนกลุ่มนี้อาจต้องเป็นแบบเฉพาะตัว หรืออยู่ในแนวการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในงานปัจฉิมนิเทศผู้เข้าร่วมอบรมโครงการ ส่งเสริมการจัดการที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รุ่นที่ 3 ภายใต้โครงการ "K SMEs Care" ของธนาคารกสิกรไทย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ได้ถ่ายทอดให้เห็นความสำคัญว่าทำไมผู้บริหารจึงต้องพัฒนาความรู้อยู่เสมอ และกระบวนการเรียนต่างๆ นั้นจะเริ่มขึ้นและดำเนินไปอย่างไร...

"ประสาร" ชี้ว่า คำถามหลักๆ 4 ข้อที่ผู้บริหารจำเป็นต้องตอบได้ก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้อย่างเป็น ขั้นตอน นั่นคือ 1.การเรียนรู้ด้วยตนเอง (independent learners) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้บริหารจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 2.วิชาการด้านบริหารนั้นๆ มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ 3.ความรู้ด้านการบริหารที่จะเรียนรู้นั้นมีอะไรบ้าง และ 4.ผู้บริหารที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร

ในการเรียนรู้แบบ independent learners มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 อย่างที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น คือ (1) แรงดลใจ (motivation) ที่ต้องเกิดจากภายใน ไม่ต้องมีแรงบังคับจากภายนอก (2) เครื่องมือหรือวิธีการศึกษา (skills) โดยผู้บริหารที่ดีต้องมีทั้ง 2 ส่วนนี้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ที่ต้องการเรียนรู้ตลอดเวลา (active learners) และเรียนรู้ตลอดชีวิต (longlife learning)

"สมองของเราเป็นกล้ามเนื้อประเภทหนึ่งที่ต้องมีการบริหาร ยิ่งเราใช้สมองมากก็ยิ่งเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ มีการเก็บสถิติของการใช้เวลาในการเรียนรู้ว่า การที่เราอ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมง เทียบเท่ากับการอ่านหนังสือสัปดาห์ละเล่ม และ 50 เล่มต่อปี และการเลือกฟังโปรแกรมพัฒนาความรู้ (audio program) ขณะรถติด 500-1,000 ชั่วโมงต่อปี เท่าๆ กับเวลาเราทำงาน 3-6 เดือน นอกจากนี้การเรียนรู้จากคอร์สหรือการสัมมนาต่างๆ ก็เป็นการเพิ่มพูนความรู้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้หลักทางพุทธคืออิทธิบาท 4 เป็นหลักที่ผู้บริหารควรยึดถือ"

ในคำถามที่สอง วิชาการด้านบริหารนั้นๆ มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ "ประสาร" เห็นว่าแม้ปัจจุบันความรู้ด้านการบริหารจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากปัญหาฉ้อโกงของระดับผู้บริหารหลายกรณี เช่น กรณีของเอนรอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตร บริหารธุรกิจระยะหลังถูกพัฒนาให้ห่างออกไปจากโลกของความเป็นจริง จนทำลายวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในอดีต ที่นอกจากให้ความรู้ด้านการบริหารแล้วยังสอนผู้บริหารให้เป็นผู้มีคุณธรรมและรับผิดชอบ

แต่ข้อดีของหลักสูตรหรือความรู้ด้านการบริหารคือมีแนวทางที่เหมือนกันในทุกๆ ที่ทั่วโลก (commoditization) ทำให้ผู้บริหารทุกแห่งและทุกระดับสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองในแนวทางที่ผู้บริหารคนอื่นเรียนรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือตำราที่สอนหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดได้โดยง่าย

"ดังนั้นคำตอบในข้อนี้คือ ความรู้ด้านการบริหารมีประโยชน์อย่างมาก หากผู้บริหารมีดุลพินิจในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ซับซ้อน รู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพราะถ้าตั้งคำถามผิด ต่อให้ขยันแค่ไหน คำตอบที่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ และที่ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความสามารถด้านการเป็นผู้นำและการตัดสินใจ นอกจากนี้วิชาการด้านบริหารยังช่วยให้มองเห็นปัญหาบางอย่างที่มองไม่เห็น เช่นเรื่องของ EQ ที่แต่ก่อนเราไม่เคยสนใจ นอกจากนี้องค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ยังได้ผ่านการทดลองมานาน มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้และช่วยให้มั่นใจในการนำมาใช้"

เขากล่าวถึงคำถามที่ 3 คือ องค์ความรู้ด้านการบริหารมีอะไรบ้างว่า โดยหลักแล้วองค์ความรู้ด้านการบริหารแบ่งออกได้ 4 ส่วนหลักๆ คือ 1.ส่วนย่อย-ส่วนย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้กระบวนการทำงานในด้านปฏิบัติการ แต่ผู้บริหารต้องสามารถเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นไปคือ 2.ส่วนย่อย-ส่วนใหญ่ คือต้องสามารถเรียนรู้ที่จะผูกส่วนย่อยๆ ให้รวมกันเป็นพลังขององค์กรที่มีทิศทางชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน 3.ส่วนใหญ่- ส่วนย่อย ส่วนนี้ก็สำคัญในแง่ที่ว่า ผู้บริหารต้องสามารถแปลงเป้าหมายใหญ่ขององค์กร (ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์) ไปสู่ระดับย่อยให้สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายองค์กรได้ และ 4.ส่วนใหญ่-ส่วนใหญ่ คือความรู้ต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างองค์กร ผู้บริหารต้องเรียนรู้และสามารถเชื่อมองค์กรให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้

"องค์ความรู้ 4 แบบสามารถแปรออกมาเป็นองค์ความรู้ด้านการทำงาน 3 อย่าง คือ กระบวนการด้านยุทธศาสตร์ ด้านการปฏิบัติงาน และเรื่องของคน แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ซึ่งจากสถิติพบว่ามี 9 ใน 10 องค์กรที่ ล้มเหลวในเรื่องนี้"

และอุปสรรค 4 ด้านที่เป็นต้นเหตุของความ ล้มเหลวขององค์กรส่วนใหญ่ อุปสรรคแรกคือเรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งข้อมูลระบุว่าบริษัทส่วนใหญ่มี พนักงานเพียง 5% เท่านั้นที่เข้าใจในยุทธศาสตร์ขององค์กร ต่อมาคืออุปสรรคจากผู้บริหารเอง ที่มีข้อมูลระบุว่า 85% ของผู้บริหารเวลามีน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อเดือนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องยุทธศาสตร์ เนื่องจากหมดเวลามากมายไปกับงานเฉพาะหน้า

ถัดมาคืออุปสรรคด้านทรัพยากร ที่องค์กรธุรกิจกว่า 60% ไม่ได้มีการเชื่อมโยงงบประมาณเข้ากับยุทธศาสตร์องค์กรว่า ในอนาคตจะจัดงบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม สุดท้ายคืออุปสรรคจากพนักงาน ที่มีข้อมูลบ่งบอกเช่นกันว่ามีพนักงานระดับผู้จัดการเพียง 25% ที่มีการเชื่อมโยงเป้าหมายการทำงานส่วนตัวและผลตอบแทนเข้ากับยุทธศาสตร์ขององค์กร

ดังนั้นกรอบแนวคิดที่จะแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติได้ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน เริ่มจากการกำหนดภารกิจ (mission) ขององค์กรให้ชัดเจน ให้เหมือนกับคนที่รู้ตัวว่าเกิดมาเพื่ออะไร จากนั้นต้องรู้จักคุณค่าที่มุ่งหวัง (core value) เพราะองค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นองค์กรที่มีระบบคุณค่า รู้ว่าองค์กรจะต้องให้ค่า กับอะไร ขั้นตอนสำคัญที่ถัดมาคือ การ กำหนดวิสัยทัศน์ (vision) นั่นคือการกำหนดว่าองค์กรจะเดินไปสู่ทิศทางใดภายใต้ภารกิจที่กำหนดไว้

จากนั้นคือการกำหนดเครื่องมือในการติดตามระดับต่างๆ ทั้งองค์กรและหน่วยงานภายใน แต่ประการสำคัญต้องเชื่อมเป้าหมายส่วนบุคคลของคนในองค์กรให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจขององค์กร

คำถามสุดท้าย คือ ผู้บริหารที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร ประสารได้อธิบายให้มุมมองว่า ผู้บริหารนั้นต้องเป็นผู้ที่รู้จักคนและรู้จักธุรกิจที่ตัวเองอยู่ ต้องยืนอยู่บนความจริงแม้บางครั้งการคิดนอกกรอบนำมาซึ่งไอเดียต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วผู้บริหารก็ต้องกลับมาอยู่กับความจริง

เป็นผู้วางเป้าหมายและลำดับความสำคัญ ให้ชัดเจน มีการติดตามงานต่างๆ อย่างเหมาะสม ให้รางวัลแก่ผู้ทำงานดี หรือหากทำไม่ดีต้อง ลงโทษ

และสุดท้ายคือต้องรู้จักตนเอง ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ โดยเฉพาะการมีความเข้มแข็งทางอารมณ์ เข้าใจผู้อื่นอยู่เสมอ เพราะการมองสิ่งเดียวกันในมิติของคนอื่นจะช่วยให้ผู้บริหารหาทางออกของปัญหาได้ นอกเหนือจากมิติของ ตัวเอง

หน้า 38


source หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ
i drive / i race / i test / I drift
I row / I run / I fun / I ride

Offline ToppyRacingClub

  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 1382
อืมๆ... "บริหารงาน" ไม่เท่าไร แต่ "บริหารคน" นี้ยากจริงๆๆๆ :'(