Bike Forum > Folding Bike / Mountain Bike / City Bike / ect..

บทความของคุณ ทวีศักดิ์ บุตรตัน ที่ลงในมติชน

<< < (2/3) > >>

O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (6)
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=04108300649&srcday=2006/06/30&search=no

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับรณรงค์ปั่นจักรยานเพื่อการเดินทางแทนรถยนต์ บ้างก็อ้างว่าอากาศบ้านเราไม่อำนวย เนื่องจากร้อน หรือไม่ก็ฝนตก

เรื่องนี้สามารถแก้ปัญหาได้ หากผู้บริหารบ้านเมืองต้องการสร้างทางจักรยานเพื่อจูงใจให้คนใช้จักรยานเป็นพาหนะมากๆ จะต้องวางแผนออกแบบเส้นทางจักรยานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

ผมเห็นนักปั่นจักรยานในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ขี่เจ้าพาหนะสองล้อในทุกสภาพอากาศ ร้อนหรือเย็น หรือมีฝนเทลงมาสักแค่ไหน ก็ปั่นกันอย่างสบายใจ เนื่องจากเลนจักรยานที่ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทางนั่นคือการสร้างเส้นทางให้อยู่ในแนวต้นไม้ ซึ่งเกิดความร่มรื่นระหว่างการปั่น

บางเส้นทางขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเล ปั่นไปก็สูดลมทะเลอันสดชื่นไปจนลืมเหนื่อย

บ้านเรา หากคิดจะทำไบก์เลน ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะพื้นที่ในการก่อสร้างควรจะออกแบบเส้นทางให้อยู่ในแนวร่มไม้ให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าคนจะหันมาปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวอันน่าดีใจสำหรับคนปั่นจักรยานชาวกรุงเทพฯ นั่นคือ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศแผนส่งเสริมคนกรุงหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อสันทนาการ การท่องเที่ยว การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

คุณอภิรักษ์ยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงเป็นเงาตามตัว กทม. จึงหันมาส่งเสริมการเดินทางด้วยรถจักรยานเพื่อประหยัดพลังงาน

กทม. เตรียมแผนเพื่อรองรับการใชัจักรยานของชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะสำนักงานของ กทม. ทั้ง 50 เขตรวมถึงศาลาว่าการ กทม. ทั้งสองแห่ง จะมีที่จอดรถจักรยาน นอกจากนี้ ยังให้แต่ละเขตสำรวจเส้นทางในชุมชนว่าสามารถทำเส้นทางจักรยานและจุดจอดรถจักรยานได้หรือไม่

กทม. เล็งสำรวจเส้นทางจักรยานเพื่อเชื่อมระหว่างชุมชนกับตลาด ชุมชนกับวัด มัสยิด หรือโรงเรียน และยังจัดเส้นทางจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอีก 10 เส้นทาง

แถวๆ บ้านผม ก็มีเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว เลียบวงแหวนรอบนอกสายตะวันออก เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ เส้นทางสายนี้ ผมชอบปั่นตอนเช้าๆ จะมีช่องตัดเข้าสู่ทุ่งนากว้าง เห็นฝูงนกบินว่อนหาปูปลา ก่อนวกเข้าสู่ทางเรียบทะลุไปถึงวัดลานบุญ นั่งพักเอาแรงและสงบสติที่นั่นสักครึ่งชั่วโมงก่อนปั่นกลับบ้านอย่างอิ่มเอิบใจ

ถ้า กทม. ปรับทางเท้าริมถนนรามคำแหงทั้งสองฝั่งลบมุมทำให้ลาดชันน้อยลงเพื่อให้นักปั่นจักรยานปั่นโดยไม่ต้องเสี่ยงลงไปปั่นบนถนน ผมเชื่อว่าถนนสายนี้จะได้รับความนิยมสำหรับการปั่นเพื่อการท่องเที่ยวอีกเยอะ เพราะนอกจากจะไปปั่นเที่ยววัดลานบุญที่อยู่ฝั่งตะวันออกแล้ว หากปั่นไปทางทิศเหนือเลียบวงแหวนขึ้นไปแถวๆ มีนบุรี ก็มีที่น่าปั่นเพื่อการท่องเที่ยวหลายแห่ง

สำหรับโครงการของ กทม. ที่น่าสนใจอีกโครงการได้แก่ การรณรงค์วินัยจราจรให้เยาวชน เรื่องนี้ผมถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว

คนปั่นจักรยาน ก็เหมือนคนขับรถยนต์ ถ้าไม่รู้กฎจราจร โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุ ทำอันตรายทั้งผู้ขับขี่และผู้ที่สัญจรไปมาย่อมมีสูง

บ้านเรายังขาดสำนึกเรื่องวินัยจราจรอยู่มากจึงทำให้สถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกมาก เนื่องจากว่า รถยนต์ที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันมีระบบป้องกันอันตรายกับตัวบุคคลเยอะแยะมากมาก ทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมด้านหน้า ด้านข้าง มีเหล็กกั้นรอบคันรถ ขณะที่ถนนหนทางมีการปรับปรุงดีขึ้นมาก ทางเรียบขึ้น วิ่งสบายขึ้น แต่คนเสียชีวิตเพราะรถชนกันนั้นมีไม่เว้นแต่ละวัน

นี่ก็เพราะการใช้รถใช้ถนนขาดวินัยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดจะพัฒนาระบบจราจรไม่ว่าจะเป็นทางจักรยานหรือทางรถ ต้องเน้นเรื่องวินัยในการสัญจรควบคู่กันด้วย



O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (7)

http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=04140070749&srcday=2006/07/07&search=no

ถ้าใครติดตามเรื่องราวของทางจักรยานอย่างใกล้ชิดจะพบว่า บ้านเราพูดมากกว่าทำ หน่วยงานต่างๆ มีไอเดียออกมาเยอะแยะ แต่การผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนใช้ได้ผลนั้นมีน้อยมาก หรือมีก็ทำได้ไม่ต่อเนื่อง อีกมากโครงการที่นอกจากประสิทธิผลต่ำแล้ว บางครั้งยังมีเรื่องราวการโกงกินเงินหลวงเข้ามาพัวพันให้ชาวบ้านช้ำใจอีกต่างหาก

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2544 พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน บอกว่า สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเดินทาง โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non Motorization)

เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ควรได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนให้แพร่หลาย เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดปริมาณการใช้น้ำมันในการสัญจร ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางในระยะสั้นๆ

เนื่องจากสภาพพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีถนนสายรอง และตรอก ซอยจำนวนมาก

นอกจากนี้ ทางคู่ขนานหลายแห่งและทางเดินเท้าที่กว้างตามแนวถนนสายหลัก หากได้รับการจัดทำเครื่องหมายและปรับปรุงขอบทางให้เหมาะสม ก็สามารถปรับมาใช้เป็นทางจักรยานได้ ซึ่งในปัจจุบัน จัดทำทางวิ่งจักรยานใต้ทางด่วน และบนทางเท้าที่สามารถทำได้โดยเฉพาะบริเวณชานเมือง เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานและการเดินเท้าเพิ่มขึ้น

เลขาฯ สจร. กล่าวว่า สจร. ได้กำหนดกรอบพัฒนาระบบการเดินทาง ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยจัดเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้เดินเท้าและผู้ขับขี่จักรยาน พร้อมๆ กับสนับสนุนให้ประชาชนยอม รับการเดินทางด้วยวิธีนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเสนอ คจร. ปรับปรุงคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง

"จากการศึกษาเรื่องการเดินทาง โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์มาเป็นจักรยาน จะสามารถประหยัดได้ประมาณ 0.2 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 บาทต่อการเดินทาง 1 กิโลเมตรในชนบท หรือ 0.8 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 34 บาท ต่อการเดินทาง 1 กิโลเมตร ในเขตเมืองช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่งสูงสุด"

พ.ต.ต.ยงยุทธปิดท้ายว่า ถ้าหากประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง โดยหันมาใช้จักรยานก็จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางและลดค่า ใช้จ่าย ลงได้มาก นอกจากนี้ ประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้รับคือ สุขภาพที่ดีขึ้น และได้พักผ่อนหย่อนใจไปในตัว

เหตุการณ์นี้ผ่านมา 5 ปี พ.ต.ท.ยงยุทธพ้นจากตำแหน่งเลขาฯ "คจร." ไปนานแล้ว แต่แนวคิดดีๆ อย่างนี้ไม่ได้สานต่ออย่างเป็นรูปธรรม

ความจริงในเวลานั้น สถานการณ์น้ำมันยังไม่ถึงขั้นวิกฤตเหมือนในปัจจุบัน แต่การมองอนาคตของ พ.ต.ท.ยงยุทธ กลับไม่มีคนมาช่วยสนับสนุนให้เป็นจริงเป็นจัง

ถ้าหากรัฐบาลฉุกคิดและทุ่มเทกำลังกายกำลังเงินเพื่อสร้างทางจักรยานให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ห้าปีก่อน การเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์อย่างที่อดีตเลขาฯ คจร. วาดฝันเอาไว้จะเป็นจริงขึ้น

นี่คือการขาดความต่อเนื่องของการจัดวางนโยบายภาครัฐ

เพราะฉะนั้น นักปั่นจักรยานทั้งหลายอย่าเพิ่งคาดหวังอะไรกันมากนักว่า เมืองไทยจะมีเส้นทางจักรยานให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทาง ท่ามกลางกระแสโลกที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สภาพแวดล้อม

O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (8)
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQxNTMyMTA3NDk=&srcday=MjAwNi8wNy8yMQ==&search=no

ข่าวชิ้นเล็กๆ จากประเทศญี่ปุ่น เมื่อหลายวันมาแล้ว รายงานเรื่องราวของการใช้จักรยานและการอบรมผู้นิยมใช้จักรยาน โดยเฉพาะเด็กๆ เพื่อฝึกให้เป็นนิสัยในการใช้กฎกติกาจราจรและความปลอดภัยในการปั่นเจ้าสองล้อคู่ชีพ

เนื้อข่าวมีอยู่ว่า สถานีตำรวจในจังหวัดอิชิกา เริ่มเข้มงวดกับการใช้กฎกติกามารยาทในการขี่จักรยานด้วยการนำสติ๊กเกอร์สีเหลืองมาใช้เพื่อตักเตือนพฤติกรรมในการขี่รถจักรยานสำหรับนักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร

หากนักเรียนคนใดฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ขี่จักรยานฝ่าไฟแดงจะได้รับสติ๊กเกอร์สีเหลืองหนึ่งใบ และหากได้รับสติ๊กเกอร์ถึง 3 ใบ ทางสถานีตำรวจจะรายงานพฤติกรรมดังกล่าวให้ทางครอบครัวและทางโรงเรียนทราบ

"โนบูอาคิ นากาโมโต้" ตำรวจจราจร ประจำสถานีตำรวจมัตโตบอกว่า รถจักรยานถือเป็นยานพาหนะอย่างหนึ่งจึงต้องอยู่ภายใต้กฎจราจรเช่นเดียวกับพาหนะประเภทอื่น หากผู้ขับขี่ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรจะต้องถูกลงโทษ

ในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ขี่รถจักรยานต้องเข้าอบรมเพื่อสอบขอใบอนุญาตขี่จักรยาน เช่น ที่จังหวัดเฮียวโกะ เด็กนักเรียนประถมและมัธยมต้องได้รับใบอนุญาตขี่จักรยานจากเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดและตำรวจ

เด็กๆ จะเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรเพื่อสอบขอใบอนุญาตเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนและรู้จักเห็นอกเห็นใจคนเดินถนน ผู้ขับขี่ยวดยานอื่นที่ร่วมใช้รถใช้ถนนกับพวกเขา นอกจากการสอนภาคทฤษฎีแล้วยังฝึกภาคปฏิบัติจริงด้วย และเด็กเหล่านี้จะได้รับใบอนุญาตขี่รถจักรยานหลังจากสอบผ่านแล้วเท่านั้น

เจ้าหน้าที่กำลังประเมินว่า ผู้ขี่จักรยานจะข้ามถนนบริเวณทางแยกที่มียวดยานจอแจไปได้อย่างไรโดยไม่ไปรบกวนพื้นที่บนทางเท้า แต่ละคนก็เสนอความเห็นว่าควรจะไปเส้นทางใด และในที่สุดก็ได้ขอสรุปว่า ควรจะมีแผนที่เส้นทางสำหรับรถจักรยาน โดยระบุให้ทราบว่า บริเวณใดที่ควรใช้ความระมัดระวังในการขี่รถเป็นพิเศษ และบริเวณใดที่ควรเดินจูงรถไปและย้ำให้ขี่รถอย่างระมัดระวังในบริเวณที่รถเข้าออกในจุดจอดรถ

เจ้าหน้าที่ได้ออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงโตเกียว เพื่อให้มั่นใจว่าแผนที่ที่จัดทำขึ้นสามารถนำมาใช้งานได้จริง ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีเด็กนักเรียนประถมและมัธยมที่ได้รับใบอนุญาตขี่รถจักรยานแล้วเกือบ 2,000 คน

ผมนำข่าวนี้มาเล่าให้ฟังกัน เพื่อจะบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นวันนี้เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ของโลกไปแล้ว และปริมาณการผลิตเพิ่งแซงหน้าสหรัฐอเมริกาหมาดๆ นี่เอง แต่รัฐบาลที่นั่นให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็กๆ ผู้จะเป็นอนาคตของชาติ ให้รู้จักการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกที่คุ้มค่า และความมีระเบียบวินัย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

นอกจากการรณรงค์ให้เด็กเรียนรู้กับ "จักรยาน" พาหนะที่เป็นประดิษฐกรรมอันเก่าแก่ของโลกแล้ว เด็กยังฝึกร่างกายให้เกิดความแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันโรคไปในตัวด้วย

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา ที่นับวันผู้ใหญ่ยัดเยียดคำสอนเรื่องความมักง่าย เห็นแก่ตัวเอาแก่ได้ บางทีเพียงพูดยังไม่พอ แต่ยังแสดงพฤติกรรมให้เห็นกันชัดๆ โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศบางคนนี่แหละ พูดอย่างทำอย่างจนเด็กงงๆ ไปหมดแล้ว ว่าการเป็นผู้นำได้ต้องมีคุณธรรมความดีงามหรือโกงเก่งอย่างเดียวก็พอ?

O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ถนนเพื่อ"จักรยาน"
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQ5ODEyMDU0OQ==&srcday=MjAwNi8wNy8yMQ==&search=no

ราคาน้ำมันกระฉูดกลับมาเป็นข่าวอีกหน และเป็นเช่นเดิมคือเมื่อมีข่าวใหญ่อย่างนี้ รัฐบาลทำท่าแสดงอาการกระตือรือร้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตีปี๊บแผนรณรงค์กระตุ้นให้คนประหยัดพลังงาน

แต่ผลสุดท้ายล้มเหลวเช่นเคยเพราะคนยังใช้น้ำมันไม่ได้ลดลง มิหนำซ้ำยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ขณะที่ความคิดเพื่อจัดหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เกิดประกายได้แค่วูบเดียวแล้วก็หายไป ไม่มีการทำอย่างต่อเนื่อง หรือทำไปก็แค่ให้เป็นข่าวฮือฮาเท่านั้น เมื่อข่าวจางหายไป ราคาน้ำมันหล่นลงมา สถานการณ์ "ผลาญ" น้ำมันกลับมาสู่ภาวะปกติ คือใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง

จึงไม่น่าแปลกเมื่อเราต้องสูญเสียเงินเพื่อซื้อน้ำมันมาใช้ปีละ 5 แสนล้านบาท

ถ้าเอาตัวเลขซื้อน้ำมันนี้มาคิดเล่นๆ เปรียบเทียบกับการผลิตข้าวส่งออก แต่ละปีไทยส่งออกข้าวได้เฉลี่ย 7-8 ล้านตัน ราคาข้าวตกตันละ 350 เหรียญสหรัฐ เราจะขายข้าวได้ราว 1-1.2 แสนล้านบาท

ฉะนั้น คนไทยต้องปลูกข้าวถึง 5 ปีเพื่อขายข้าวเอามาอุดกับน้ำมันที่ผลาญกันแค่ปีเดียว

นี่เป็นความไม่สมดุลของการจัดการบริหารประเทศ

แม้วันนี้โครงสร้างประเทศจะเปลี่ยนจากการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ คอมพิวเตอร์ แต่ในที่สุดเราก็ต้องพึ่งพาการใช้น้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตอยู่ดี

มองไปข้างหน้า ประเทศไทยรอวันทรุดเพราะไม่ได้คิดวางแผนและลงมือเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันอย่างจริงจัง

มีตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ เรื่องการขนส่งคมนาคม นโยบายของรัฐบาลแทบทุกสมัยทำเหมือนเอาใจบริษัทผลิตรถยนต์ ด้วยการวางแผนสร้างโครงข่ายถนนอย่างเว่อร์ๆ ทำถนนให้ใหญ่ให้รถวิ่งได้มากๆ ทั้งที่มีระบบการขนส่งอื่นๆ อีกมากมายที่ควรจะทำ เป็นต้นว่า ในเส้นทางหลักๆ ควรเป็นขยายทางรถไฟเพื่อรองรับปริมาณการเติบโตของการขนส่ง เมืองใหญ่ควรมีระบบขนส่งมวลชน หรือการปรับปรุงเส้นทางขนส่งทางน้ำ ซึ่เป็นแนวทางที่สามารถจะขนส่งในปริมาณมากๆ ประหยัดน้ำมันได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน ไม่มีรัฐบาลชุดใดวางแผนผังเมืองให้สอดประสานระหว่างการพักอาศัยกับการทำธุรกิจเพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ แต่กลับขยายเมืองออกไปอย่างสะเปะสะปะ ทำให้คนต้องคิดหาซื้อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์เพื่อเดินทาง

ในชุมชนทุกแห่ง ควรจะมีเส้นทางจักรยานสำหรับการใช้เดินทางในระยะสั้นๆ แต่กลับไม่มีการคิดวางนโยบายและทำขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่จักรยานคือพาหนะที่ถูกที่สุดสำหรับแผนรณรงค์ประหยัดน้ำมัน

เวลานี้ข่าวน้ำมันแพงโหมประโคมในสื่อก็ได้ยินว่ากระทรวงมหาดไทยเริ่มหันกลับมาวางแผนปลุกใจข้าราชการจังหวัดต่างๆ ให้กลับมาใช้จักรยานในการเดินทางและทำเส้นทางจักรยาน ตำรวจคิดใช้จักรยานสำหรับตรวจการณ์ในพื้นที่ชุมชน

ผมสนับสนุนเรื่องเส้นทางจักรยานมานานแล้วและอยากให้ฝันเป็นจริง แต่อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นไฟไหม้ฟางอีกครั้ง เพราะเท่าที่จับกระแสดู จะมีเพียงกลุ่มคนขี่จักรยานและโพลสำรวจของบางสำนักเท่านั้นที่ไปสำรวจความเห็นของประชาชนซึ่งส่วนเห็นด้วย กระนั้นก็ยังเป็นแค่ความเห็น

ผมอยากเห็นรัฐบาลปักธงทำเส้นทางจักรยานเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้นโยบายนี้สามารถเห็นผลในทันตา โดยตัดงบประมาณที่เป็นงบฯ ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น นั่นคืองบฯ การสร้างขยายถนนขนาดใหญ่ให้เปลี่ยนมาเป็นงบฯ ทำทางจักรยานแทน ใช้งบฯ ที่น้อยกว่าและทำได้เร็วกว่าถนนสำหรับรถยนต์

ในปีต่อๆ ไป รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงานหรือกระทรวงมหาดไทย ต้องจัดงบประมาณสำหรับทำเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะในทุกจังหวัด ทุกอำเภอและลงไปถึงระดับชุมชนต่างๆ รวมทั้งยังต้องมีงบฯ สำหรับฝึกอบรมผู้ใช้รถจักรยาน งบฯ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมจักรยาน รองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมประเภทนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

ตราบใดที่ราคาน้ำมันยังแพงและยังไม่มีใครคิดค้นพลังงานทางเลือกสำหรับการเดินทางในระยะสั้นๆ ได้ดีกว่าการใช้พลังงาน "คน" ในการปั่นจักรยาน

O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

จักรยานเพิ่มค่า
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQ4NDIzMDU0Ng==&srcday=MjAwNi8wNy8yMQ==&search=no

ข่าวเล็กๆ สั้นๆ สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ผมเกิดสะดุดใจอยากนำข่าวนี้มาเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน และโดยเฉพาะบรรดานักคิดที่เป็นหัวแถวของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับรู้อย่างทั่วถึง

เนื้อข่าวมีอยู่ว่า รัฐบาลนอร์เวย์ริเริ่มโครงการจูงใจให้ชาวนอร์เวย์เลิกใช้รถยนต์หันมาปั่นจักรยาน เพื่อประหยัดน้ำมันและลดมลพิษโดยยอมจ่ายเงินสดๆ ให้คนทำงานที่ปั่นสองล้อไปทำงานสนองนโยบายของรัฐบาล

นอกจากจุดประสงค์ในการประหยัดน้ำมันและลดมลภาวะแล้ว รัฐบาลนอร์เวย์มีเป้าหมายที่จะช่วยให้สุขภาพของประชาชนแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โครงการนี้เริ่มแล้วตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม ใช้ชื่อว่า เมืองแห่งสุขภาพ (HEALTHY CITY) โดยจะจ่ายเงินให้พนักงานเทศบาลเขตแซนด์เนส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์เวย์

ทุกๆ กิโลเมตรที่ปั่นจักรยานไปติดต่อทำธุรกิจ จะได้เงินสดประมาณ 43 เซ็นต์ หรือเกือบ 20 บาท แต่ต้องไม่เกินระยะทาง 5 กิโลเมตร ไม่นับรวมระยะทางที่ปั่นไป-กลับจากบ้านและที่ทำงาน


นายฮานส์ อิวาร์ โซมเม่ (Hans Ivar Soemar) แกนนำผู้ริเริ่มโครงการนี้บอกว่า ต้องการให้พนักงานสุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ขณะเดียวกัน นักปั่นประมาณ 75,000 คน ขี่จักรยานไปทำงานขานรับสัปดาห์รณรงค์ถีบสองล้อไปทำงานประจำปี (BICYCLE TO WORK) หลายรายแวะพักกินอาหารมื้อเช้าที่จัดเตรียมไว้ให้รายทางด้วย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลนอร์เวย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในโลก ก็ได้ริเริ่มมาตรการห้ามสูบบุหรี่ตามบาร์และร้านอาหารทั่วประเทศเป็นแห่งแรกในโลก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชน 4.5 ล้านคนมีความสุขและสุขภาพแข็งแรง

ข่าวนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลนอร์เวย์มีความตั้งใจให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมีสุขภาพแข็งแรงจริงๆ ไม่ใช่แค่คุยโตโอ้อวดเหมือนบางรัฐบาล ซึ่งคิดเพียงสร้างภาพฉาบฉวยไปวันๆ


โครงการปั่นจักรยานในเมือง โดยเฉพาะเมืองไทยนั้นถ้ารัฐบาลตั้งใจทำ ก็สามารถทำได้นานแล้ว แต่ที่ไม่ทำเพราะไม่ได้คิด ที่ไม่คิดก็เพราะเห็นว่าเรื่องจักรยานเป็นแค่เรื่องเล็กๆ กระจอกงอกง่อย หันไปคิดเรื่องสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ คิดโครงการสร้างถนนสายใหญ่เพราะจะได้เงินงบประมาณเยอะๆ ได้ค่าคอมมิสชั่นมากๆ โกงกันอย่างสนุกสนาน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่เคยมองถึงผลลบจากการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ จักรยานยนต์และการสร้างถนนสายใหญ่ๆ ที่ตามมา อย่างที่เห็นกันในวันนี้ ซึ่งมีอุบัติเหตุบนถนนร้ายแรงเกิดขึ้นแทบทุกวัน มีผู้เสียชีวิตมากมาย บางวันยอดคนตายสูงกว่าสงครามอิรักเสียอีก และยังมีผลร้ายอื่นๆ ไม่ว่าเรื่องของการจราจรแออัด มลพิษในอากาศ เสียงดัง สุขภาพของผู้คน

หากย้อนประเมินเงินงบประมาณจากการขยายเส้นทางสร้างถนนผมคิดว่ามีจำนวนนับหมื่นๆ ล้านบาท ค่าความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุมีจำนวนนับหมื่นๆ ล้านบาทเช่นกัน ทั้งค่าเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ที่พังพินาศ ค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ยังไม่นับรวมค่าชีวิตของผู้คนซึ่งพิการและเสียชีวิต

ผมอยากให้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอวดสรรพคุณตัวเองว่า "คิดใหม่ทำใหม่" หันมาสนใจกับเรื่องการลดปัญหามลพิษด้วยการส่งเสริมจักรยานเป็นยานพาหนะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่จะต้องสร้างถนนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ สามารถปั่นได้สะดวกเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง และถ้าเป็นไปได้ต้องอุดหนุนอุตสาหกรรมจักรยานและสร้างเครือข่ายการขนถ่ายจักรยาน เช่น รถบัสโดยสาร รถไฟให้ผู้ใช้จักรยานสามารถขนจักรยานขึ้นรถไฟ-รถยนต์เพื่อปั่นไปทำงาน

ถ้าทำได้อย่างนี้ ผมเชื่อว่า คนไทยจะมีสุขภาพแข็งแรงและชีวิตยืนยาวขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายเท่าตัว


Navigation

[0] Message Index

[#] Next page

[*] Previous page

Go to full version