Bike Forum > Folding Bike / Mountain Bike / City Bike / ect..

บทความของคุณ ทวีศักดิ์ บุตรตัน ที่ลงในมติชน

<< < (3/3)

O'Pern:
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (9)
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQxNTQyODA3NDk=&srcday=MjAwNi8wNy8yOA==&search=no

สํานักงานบริหารทางหลวงแห่งสหพันธรัฐ กระทรวงการขนส่งสหรัฐอเมริกา ทำบทสำรวจความต้องการใช้จักรยานและทางเท้า ซึ่งรวบรวมข้อมูลในทุกๆ ด้านทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์เมือง การจัดวางผังเมือง การขยายตัวของชุมชนเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบขนส่งมวลชน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การใช้ที่ดิน คุณภาพชีวิต สุขภาพ ความปลอดภัยและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้นำมาจัดประมวลเพื่อศึกษาและวางแผนในการสร้างทางจักรยานและทางเท้าของสหรัฐ

ในบทสำรวจดังกล่าว ได้มองย้อนอดีตการเติบโตของเมืองและชุมชน มีการขยายตัวแตกต่างกันขึ้นกับรายได้ของประชากร ชุมชนไหนมีรายได้สูง การเปลี่ยนแปลงของเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว การใช้ยวดยานพาหนะแตกต่างกัน เช่น ใช้รถยนต์ในการเดินทาง ขณะที่บางเมืองรายได้ประชากรต่ำ ผู้คนยังใช้รถจักรยาน ม้า รถลากเกวียน ลักษณะของผังเมืองแต่ละเมืองจึงไม่เหมือนกัน

เมื่อสหรัฐก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ความเป็นชุมชนและเมืองเปลี่ยนไป รถยนต์กลายเป็นยานพาหนะสำคัญของเมือง แม้ว่าในบางเมืองนั้นชุมชนจะมีความเข้มแข็งในเรื่องของการรักษาสภาพเมืองให้เป็นชุมชนน่าอยู่ มีเขตประวัติศาสตร์ แต่กระนั้นพื้นที่ของเมืองจะถูกเฉือนไปเป็นถนนและที่จอดรถยนต์

สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเปลี่ยนไปด้วย ส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์เพื่อทำกิจกรรมในทุกด้าน ไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปซื้อของ หรือการไปออกกำลังกาย ก็ยังขับรถยนต์ไปฟิตเนสเซ็นเตอร์

เพราะฉะนั้น ผังเมืองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงออกแบบรองรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้คนในชุมชน การสร้างถนนสายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มี่สี่แยก ติดตั้งไฟสัญญาณจราจร ทางลอดใต้ดิน หรือสะพานลอยเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถยนต์ และผู้ใช้รถยนต์ ผังเมืองที่ออกแบบมาได้ลืมคนเดินเท้าและทางจักรยานเสียสิ้น

เมื่อผู้คนกลับมาฉุกคิดว่า รถยนต์คือตัวปัญหาใหญ่ของเมือง เป็นตัวทำให้มลพิษทางอากาศ เกิดฝุ่นละออง เสียงดัง และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันแพง คนอเมริกันยิ่งหวนมานึกถึงการใช้ยานพาหนะอื่นๆ ที่ไม่ใช้เครื่องยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิงหรือ non-motorizied มากขึ้น และตัวเลือกที่สำคัญสำหรับการเดินทางภายในเมือง ชุมชน ก็คือจักรยานและทางเดินเท้า

แต่เมืองเปลี่ยนไปแล้ว เป็นเมืองของรถยนต์ ถ้าจะพลิกโฉมให้กลายเป็นเมืองจักรยานและทางเท้าจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

นักวิชาการด้านผังเมือง ศึกษาการปรับสภาพเมือง มีการเปรียบเทียบชุมชนต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อจะทำทางเดินเท้าและทางจักรยาน โดยจำลองภาพสี่แยกของชุมชนใหญ่ๆ เช่น ที่ลอสเองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่าใน 1 ตารางไมล์มีสี่แยก 160 แห่ง เมืองเออร์วิน อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เหมือนกัน มีสี่แยกแค่ 15 แห่งต่อตารางไมล์ เปรียบเทียบกับกรุงโรม อิตาลี มีสี่แยก 500 แห่ง /ตร.ไมล์ และเมืองเวนิส ของอิตาลี มีสี่แยก 1,500 แห่ง/ตร.ไมล์

ความสัมพันธ์ระหว่างสี่แยกกับผังเมือง มีผลต่อการเดินทางของประชาชน ความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งและลักษณะโครงสร้างเมือง

ดังนั้น เมื่อแต่ละเมืองคิดจะสร้างทางจักรยานและทางเท้า ต้องหากลยุทธ์เพื่อทำให้ชุมชนเห็นความจำเป็นและประโยชน์ อันดับแรกนั่นคือ ประชาชนต้องรู้สึกร่วมกันว่า จักรยานและทางเท้าจะช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงกว่าเดิม

มีการเผยแพร่ผลวิจัยใหม่ๆ ด้านสุขภาพ เพื่อชักชวนให้ผู้คนในชุมชนได้เห็นว่า การออกกำลังกายด้วยการเดินเท้า ขี่จักรยาน ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ ความดันโลหิต ภูมิแพ้หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ นอกจากนี้ ยังช่วยลดน้ำหนักทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกัน ยังศึกษาเรื่องของสภาวะความเป็นพิษในอากาศ หากเปิดถนนให้รถยนต์วิ่งกันขวักไขว่

ที่รัฐมินเนโซต้า มีผลสำรวจพบว่า หากคนปั่นจักรยานหรือเดินทุก 1 ไมล์ แทนการขับรถยนต์ นอกจากจะลดควันพิษลงแล้ว แต่ยังช่วยประหยัดนำเข้าน้ำมันได้ราว 5-22 เซ็นต์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความเป็นเมืองกลับคืนมา เมื่อคนเดินเท้ากันมากขึ้น ปั่นจักรยานกันเยอะขึ้น บรรดาร้านค้าในชุมชนจะสนับสนุนให้ทำทางเท้าและทางจักรยานเพราะสินค้าโชว์อยู่ในร้านจะได้รับความสนใจจากผู้คนหรือนักปั่นจักรยานที่ผ่านไปมานั่นเอง

O'Pern:
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1356
สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (10)
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQxMzYxMTA4NDk=&srcday=MjAwNi8wOC8xMQ==&search=no

บ่ายวันอาทิตย์ที่แล้ว ตั้งใจปั่นจักรยานเลาะเส้นทางวงแหวนรอบนอก ตรงด่านทับช้างและตัดเข้ามอเตอร์เวย์ หวังจะไปนั่งเล่นริมศาลาวัดลานบุญ ย่านลาดกระบัง ที่นั่นมีปลานานาชนิดให้ดูเล่นเพลินตา

ระหว่างปั่นเลียบถนนวงแหวน เกิดนึกสนุกอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ อยากเปลี่ยนเส้นทางใหม่ๆ มั่ง จึงตัดสินใจเลี้ยวเข้าไปทางหมู่บ้านเคซี เลาะเลียบคลองคู่ขนานกับถนนวงแหวน ไปโผล่ออกหมู่บ้านนักกีฬา

เส้นทางเลียบคลองนี้ ทำให้ผมสัมผัสบรรยากาศใหม่ๆ เห็นสภาพน้ำดำคร่ำ ขยะลอยฟ่องเกลื่อนคลอง ขณะที่ชีวิตผู้คนที่นั่นอยู่กันเรียบง่ายสบายๆ

การปั่นบนสะพานคอนกรีตยกพื้นขนานไปบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลองนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเพราะทางกว้างแค่หนึ่งเมตร ขืนใจลอย สมาธิไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ มีหวังตกคลองเปียกน้ำป๋อมแป๋มให้อับอายชาวบ้านชาวช่อง ไหนยังต้องหลบหลีกชาวบ้านที่เดินไปเดินมาและเพื่อนมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานเด็กๆ ในละแวกนั้น

ผมปั่นเส้นทางนี้เป็นครั้งแรก นอกจากต้องตั้งสมาธิให้แน่วแน่แล้ว ปากยังต้องถามชาวบ้านเป็นระยะๆ เพราะมีทางแยก ทางข้ามเหมือนเป็นใยแมงมุม

ปั่นอยู่เกือบสองชั่วโมง โผล่ถึงหมู่บ้านนักกีฬาในช่วงเวลาฟ้าเริ่มสลัวๆ ใกล้จะค่ำแล้ว ถ้าปั่นกลับทางเลียบคลอง โอกาสหลงทางเป็นไปได้สูง ดีไม่ดีอาจจะตกน้ำก็ได้เพราะสายตาผมหย่อนสมรรถภาพไปมาก เลยต้องถามทางชาวบ้านอีกครั้งว่า ทางลัดหมู่บ้านทะลุออกมอเตอร์เวย์ไปทางไหน

ผมใช้เวลาปั่นเลียบมอเตอร์เวย์ถึงบ้านเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เพราะคุ้นเส้นทาง เร่งสปีดเจ้าสองล้อคันโปรดได้เต็มที่ไม่ต้องห่วงอุปสรรคข้างหน้าเหมือนปั่นเลียบคลอง

กลับถึงบ้านนั่งอ่านบทสำรวจการสร้างเส้นทางจักรยานและทางเท้าของสำนักบริหารทางหลวงแห่งสหพันธรัฐ กระทรวงการขนส่งของสหรัฐอเมริกา ต่อจากวันก่อน

คราวที่แล้ว (ตอนที่9) ผมพูดถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อ "จักรยาน" และทางจักรยานเพื่อให้เป็นทางเลือกในการประหยัดพลังงาน โดยการจัดทำแผนแม่บท ศึกษาและสำรวจความต้องการของชุมชนกับการใช้จักรยาน การออกแบบในเชิงวิศวกรรมเส้นทางจักรยานให้สอดคล้องกับชุมชน แผนการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัย

ช่วงทศวรรษ 1970 หรือ 30 ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐเริ่มหันมาวิจัย "จักรยาน" อย่างเป็นระบบ มีการให้ทุนศึกษาการสร้างจักรยาน ทำทางจักรยาน และทางเท้า ผลวิจัยหลายชิ้นเผยแพร่ในระหว่างช่วงทศวรรษปี 1980 กระแสสังคมตอบรับกับแนวคิดเรื่องนี้อย่างมาก

เวลานั้นคนอเมริกันเริ่มตื่นตระหนกกับภัยรถยนต์มากขึ้น มีนักปั่นจักรยานและคนเดินเท่าเสียชีวิตเพราะรถยนต์พุ่งชนในแต่ละปีมากขึ้น เฉพาะในรัฐฟลอริด้า ช่วงทศวรรษ 1980 มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุดังกล่าวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 90,000 คน

ต่อมารัฐบาลสหรัฐศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจัง

มีการจัดงบประมาณให้กับกองทุนความช่วยเหลือทางหลวงแห่งสหพันธรัฐ สำหรับการก่อสร้างทางจักรยาน ทางเท้าและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ 2534 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว รัฐบาลกลางสหรัฐให้งบฯ กองทุนนี้เพียง 17.1 ล้านเหรียญ ราว 684 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2546 เพิ่มกระโดดเป็น 422.7 ล้านเหรียญ ราว 1.7 หมื่นล้านบาท

นั่นเป็นงบฯ แค่สร้างทางจักรยานกับทางเท้า ถ้าเอามาเปรียบกับบ้านเรา มากกว่างบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2549 ทั้งกระทรวงเสียด้วยซ้ำไป

รัฐบาลสหรัฐยังมองยาวไปข้างหน้า นอกจากจะสร้างทางจักรยาน ทำทางเดินเท้าดีๆ กว้างๆ เพื่อให้คนหันมาปั่นจักรยาน เดินกันมากขึ้น ช่วยเพิ่มระดับคุณภาพชีวิต สุขภาพแข็งแรง และประหยัดพลังงานแล้ว เขายังคิดเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ในปี 2534 รัฐสภาสหรัฐ ผ่านกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) เป็นกฎหมายปรับปรุงครั้งสอง ในการเพิ่มมาตรฐานการป้องกันและควบคุมอากาศให้สะอาดมากขึ้น ทั้งจากการปล่อยควันพิษของรถยนต์ หรือโรงงาน

การออกกฎหมายดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแผนการรณรงค์ให้มีทางจักรยานและทางเท้า

เท่ากับกรุยทางขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการสำรวจ ศึกษาหรือการออกกฎระเบียบใหม่ๆ โครงการสร้างทางจักรยานและทางเท้า เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

simpleway:
มีตอนต่อมาหรือเปล่าครับ อ่านแล้วชอบมากเลยครับ

Navigation

[0] Message Index

[*] Previous page

Go to full version