Author Topic: ชลบุรีระส่ำเลิกจ้าง 2 หมื่นคน  (Read 3506 times)

Offline ToppyRacingClub

  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 1382
งานเข้าครับพี่น้อง...
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2396 29 ม.ค.  - 31 ม.ค. 2552

ชลบุรีระส่ำเลิกจ้าง 2 หมื่นคน
จังหวัดชลบุรีเผยตัวเลขคนเสี่ยงตกงานอีกกว่า 2.1 หมื่นคน นิคมฯ อมตะนครเฝ้าระวัง 9,895 คน รองลงมาเป็นนิคมฯ แหลมฉบัง 4,494 คน ด้าน"โตโยต้า"เปิดสมัครใจออกรอบ 2 อีก 500 คน กระทรวงแรงงานเร่งพบผู้ประกอบการย้ำมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมชะลอเลิกจ้าง ด้าน " วิบูลย์" เผย บรรยากาศทำงานกะช่วงหัวค่ำเงียบเหงา การจ้างซับคอนแทร็กต์เกือบเป็นศูนย์ มั่นใจผู้ประกอบการยื้อถึงที่สุดเพราะไม่อยากเสียแรงงานฝีมือ
นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยระหว่างการประชุมผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม "รัฐ-เอกชน ร่วมใจแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง" เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรีว่า จากการติดตา??ข้อมูลและเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชลบุรี ปรากฏว่าในช่วงเดือนมกราคม 2551 ถึง 19 มกราคม 2552 มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 20 แห่ง รวมลูกจ้าง 2,664 คน คิดเป็น 0.49% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในชลบุรี 533,488 คน จากสถานประกอบการทั้งสิ้น 14,951 แห่ง
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจะมีสถานประกอบการที่อาจเลิกจ้างอีก 56 แห่ง รวมลูกจ้างประมาณ 21,210 คน คิดเป็น 3% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
+++ โตโยต้าสมัครออกรอบ 2
ทั้งนี้ หากจำแนกตามพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 23 แห่ง ลูกจ้าง 9,895 คน นิคมฯ แหลมฉบัง 9 แห่ง ลูกจ้าง 4,494 คน ส่วนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ 6 แห่ง ลูกจ้าง 2,300 คน นิคมฯ ปิ่นทอง 4 แห่ง ลูกจ้าง 525 คน นิคมฯ บ่อวิน 1 แห่ง ลูกจ้าง 87 คน อ.ศรีราชา 5 แห่ง ลูกจ้าง 1,716 คน อ.เมืองชลบุรี 2 แห่ง ลูกจ้าง 1,248 คน อ.บ้านบึง 3 แห่ง ลูกจ้าง 578 คน อ.พานทอง 2 แห่ง ลูกจ้าง 264 คน และอ.บางละมุง 1 แห่ง ลูกจ้าง 103 คน
สำหรับประเภทกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างนั้นได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เสี่ยงเลิกจ้าง 10,147 คน กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า 5,543 คน กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม 1,271 คน สิ่งทอ 1,438 คน ผลิตของใช้ เช่น เครื่องออกกำลังกาย รองเท้า เหยือก ถ้วย ฯลฯ 851 คน และกิจการผลิตอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนก่อสร้าง ฉีดพลาสติก รับเหมาค่าแรง รวม 851 คน
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้โตโยต้าเตรียมที่จะเปิดโครงการสมัครใจ
ออกรอบ 2 อีกประมาณ 500 กว่าคนเฉพาะพนักงานรับเหมาช่วง(ซับคอนแทร็กต์)ที่โตโยต้าบ้านโพ จ.ฉะเชิงเทรา โดยในเร็วๆนี้โตโยต้าและบริษัทที่จัดหาแรงงานรัฐเหมาช่วงจะประกาศให้พนักงานทราบพร้อมกัน โดยบริษัทจ่ายค่าชดเชยให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้
ก่อนหน้านี้แรงงานที่บ้านโพ มีโครงการสมัครใจออกของพนักงานรับเหมาช่วงรอบแรกไปแล้วจำนวน 268 คน เนื่องจากขณะนี้โตโยต้ามียอดสั่งซื้อไม่ดีขึ้น ล่าสุดขณะนี้มีออร์เดอร์หายไปแล้ว 50%
+++ ยอดขายเติบโตลดลง 15%
ทั้งนี้ปัจจุบันโตโยต้ามีพนักงานรับเหมาช่วงทั้งสิ้น 6,000 คน หากประกาศโครงการสมัครใจออกรอบสองที่บ้านโพแล้ว เท่ากับว่าโตโยต้าได้เลิกจ้างพนักงานรับเหมาช่วงไปแล้ว 50% นับตั้งแต่เริ่มมีโครงการเมื่อปลายปี 2551 โดยโรงงานที่สำโรงเลิกจ้างแล้ว 780 คน และโรงงานย่อยที่สำโรงเลิกจ้าง 140 คน โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ เลิกจ้างแล้ว 1,250 คน และโรงงานที่บ้านโพ 268 คน เป็นต้น
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดการณ์ว่าตลาดรวมรถยนต์ในปี 2552 จะมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีก่อนประมาณ 15% ปริมาณการขาย 520,000 คัน โดยแบ่งออกเป็นตลาดรถยนต์นั่ง 205,000 คัน ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน 269,000 คัน และตลาดรถกระบะในเซ็กเมนต์นี้ 252,000 คัน โดยคาดการณ์จากอัตราการเติบโตที่ลดลงของไตรมาส 4 ในปี 2551 สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันและส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้
" โตโยต้า ได้ตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 221,000 คัน ลดลง 15.7% เมื่อเทียบกับปี 2551 และคาดว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาด 42.5 โดยประมาณการขาย ในปี 2552 แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 91,000 คันลดลง 14.9% ส่วนแบ่งตลาด 44.4 % รถกระบะ 1 ตัน ( รวมรถกระบะดัดแปลง) 117,800 คันลดลง 16.6% ส่วนแบ่งตลาด 43.7% รถเพื่อการพาณิชย์ 130,000 คันลดลง 16.3% ส่วนแบ่งตลาด 42.3%"
+++ นิคมฯอมตะกลางคืนเงียบ
ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่นฯ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่าแนวโน้มที่ภาคราชการประเมินว่ามีแรงงานที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างกว่า 20,000 คนนั้น เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเสียแรงงานที่มีฝีมือ และพยายามชะลอการเลิกจ้างโดยการปรับการบริหารจัดการภายในบริษัท เช่น ปรับลดหรือเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทร็กต์ แล้วโอนงานกลับมาให้พนักงานประจำ ลดการทำงานล่วงเวลา หรือลดเวลาการทำงานเป็นต้น จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจ้างผู้ประกอบการที่อยู่ภายในนิคมฯว่ามีการปิดกิจการ
" ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนลดกำลังการผลิตไปแล้วประมาณ 20-30% ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดไปประมาณ 40% แต่สำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์นั้นยังไม่มีการลดกำลังการผลิต สำหรับบรรยากาศการจ้างงานนั้น ตอนนี้การจ้างซับคอนแทร็กต์แทบจะไม่มีแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็น 0% และการทำงานช่วงเช้าและเย็นก็ไม่ได้เงียบมาก แต่สำหรับกะ 2 ทุ่ม ซึ่งปกติมีรถวิ่งเข้า-ออกและเปลี่ยนกะคนงานมาก ตอนนี้หายไปมาก"
+++ ของบฝึกแรงงาน 6.9 พันล.
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงนั้น จะเร่งสร้างขวัญและกำลังใจของนักลงทุนต่างประเทศในการป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงปิดโรงงาน ปิดถนน รวมถึงตั้งศูนย์บริการแก้ไขปัญหาแรงงานจากวิกฤติเศรษฐกิจ ( One Stop Service) ตั้งอยู่ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด โทร.สายด่วน 1506
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐจะสนับสนุนเงินในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในเบื้องต้นตั้งงบประมาณก้อนแรกไว้ที่ 6,900 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอจากบริษัทที่ต้องการส่งแรงงานไทยไปฝึกอบรมยังต่างประเทศเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการความสามารถเฉพาะทางและแรงงานไทยยังไม่มีทักษะ โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนการส่งคนไปฝึกอบรมนั้น กระทรวงจะรับข้อเสนอนี้ไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และอาจต้องหารือกับ ครม. เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( บีโอไอ) ด้วยว่ามีการส่งเสริมหรือสนับสนุนนักลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการฝึกอบรมแรงงานหรือไม่
" วันที่ 28 มกราคม 2552 นี้กระทรวงได้นำมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง ในส่วนของการขยายเวลาการรับเงินทดแทนกรณีถูกเลิกจ้าง จากเดิมไม่เกิน 6 เดือน เป็น 8 เดือน ต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้ง ส่วนการให้เงิน 2,000 บาท แก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท สำนักงานประกันสังคมมีฐานข้อมูลเตรียมพร้อมอยู่แล้ว และขอให้มั่นใจว่าเงินจะถึงมือลูกจ้างทุกคนแน่นอน"

:o :o :o