Author Topic: แถลงการณ์ ฉ.7 “ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่”  (Read 4246 times)

Offline ToppyRacingClub

  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 1382
Fwmail

คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น1)
ฉบับที่ 7 
วันที่ 13 มิถุนายน 2552
--------------------------------
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น 1) กำลังขยายตัวไปทั่วโลก  และขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดภายในประเทศแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษา และสถานประกอบการ ซึ่งอาจแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว  ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีอาการคล้ายกันกับไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ธรรมดา  ส่วนใหญ่มีอาการน้อยและหายได้โดยไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล  สำหรับผู้ป่วยจำนวนไม่มากในต่างประเทศที่เสียชีวิต  มักเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด  โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน เป็นต้น  ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ  โรคอ้วน  ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  และหญิงมีครรภ์  สำหรับวิธีการติดต่อและวิธีการป้องกันโรค  จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา  กระทรวงสาธารณสุข  จึงขอให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1 เอ็น 1)  ดังต่อไปนี้
 
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1.  ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
2.  ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
3.  ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
4.  รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5.  ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น
6.  ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
 
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม  และรับประทานอาหารได้  สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้  ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น  หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม
4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม
5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย  อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์
 
คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา 
1. แนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
2. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค
3. แนะนำให้นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ  เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน  ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน
4. หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้  ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี  และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา  แต่หากจะพิจารณาปิดสถานศึกษา        ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์  สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง  จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง
 
คำแนะนำสำหรับสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน
1. แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
2. ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค
3. แนะนำให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ  เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา  7  วัน  ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน
4. ในสถานการณ์ปัจจุบัน  ยังไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน  เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์  สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง  จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ  ในบางวันควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง
6. ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง  หากเกิดการระบาดใหญ่ (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่        กรมควบคุมโรค  http://beid.ddc.moph.go.th
 
แหล่งข้อมูลการติดต่อ เพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
1. กรุงเทพมหานคร  ติดต่อได้ที่  กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร                                โทรศัพท์ 0 2245 8106 ,  0 2246 0358 และ 0 2354 1836
2.  ต่างจังหวัด  ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง
 
  ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข   www.moph.go.th  และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333  และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์  กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์  0 2590 1994   ตลอด 24 ชั่วโมง

:yociexpress01:

Offline O'Pern

  • fear is a mind killer
  • Administrator
  • Authentic Drifter
  • *****
  • Posts: 7411
  • don't let your fear stand in the way of your dream
    • racing club
คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข

เรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น1)

ฉบับที่ 8 

วันที่ 9 กรกฎาคม 2552

--------------------------

 

ปัจจุบันการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น 1) ได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว  โดยโรคมีความรุนแรงปานกลาง ประเทศไทยส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯและปริมณฑล  และมีรายงานมากกว่า 60 จังหวัดแล้ว ขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา รองมาเป็นคนวัยทำงาน

 

คำแนะนำทั่วไป

ประชาชนทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจโรคที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก รู้วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ  โดยการติดตามข้อมูลคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข  รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  รับประทานอาหารมีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม  นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง หมั่นล้างมือบ่อยๆ  หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และฝึกนิสัยไม่ใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา หรือจับต้องใบหน้า ถ้าจำเป็นควรใช้กระดาษทิชชูจะปลอดภัยกว่า ดูแลตนเองหรือคนในครอบครัวที่ป่วยได้  และป้องกันไม่แพร่เชื้อให้คนรอบข้าง  โดยการหยุดเรียน  หยุดงาน  ปิดปากจูกเวลาไอจามด้วยกระดาษทิชชู  สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น  และหมั่นล้างมือบ่อยๆ  ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด  และลดผลกระทบด้านต่างๆ ได้มากที่สุด

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการป่วยใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นทุกปี  คือมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล  เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย  มีรายงานอาการสมองอักเสบน้อยมาก (4-5 ราย) 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่  (95%) มีอาการเล็กน้อย  จะมีอาการทุเลาขึ้นตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5-7 วัน จึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยน้อยราย (5%) ที่มีอาการป่วยรุนแรงซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก ไอมากจนเจ็บหน้าอก เกิดปอดบวม (หายใจถี่ หอบ เหนื่อย) พบว่าส่วนใหญ่ (70% ของผู้ป่วยน้อยราย) เป็นกลุ่มผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคปอด หอบหืด  โรคหัวใจ  โรคเลือด ไต เบาหวาน ฯลฯ)  ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ (โรคมะเร็ง ฯลฯ)  โรคอ้วน  หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยส่วนหนึ่ง (30% ของผู้ป่วยน้อยราย) มีอาการรุนแรง แต่ไม่สามารถสอบสวนหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง  จึงต้องรีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทันที

 

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงที่บ้าน

หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึมหรืออ่อนเพลียมาก  และพอรับประทานอาหารได้  สามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านได้  โดยปฏิบัติดังนี้

ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน  และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก ไม่ออกไปนอกบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย หรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ 
แจ้งสถานศึกษาหรือที่ทำงานทราบ เพื่อจะได้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของเภสัชกร  หรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส  ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง 
เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ  โดยการเช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว  เน้นการเช็ดลดไข้บริเวณหน้าผาก  ซอกรักแร้  ขาหนีบ  ข้อพับแขนขา  และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขา  เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัว และห่มผ้าให้อบอุ่น     
ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด
พยายามรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียง
นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
หากอาการป่วยรุนแรงขึ้น  เช่น ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้  อาเจียนมาก ไอมากจนเจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบ เหนื่อย ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
 

การแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ในบ้าน

 

ผู้ป่วยควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกห้องจนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ 
รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น หากอาการทุเลาแล้ว  อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้  แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
ปิดปากจมูก เวลาไอ จาม  ด้วยกระดาษทิชชู แล้วทิ้งทิชชูลงในถังขยะ และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล  หรือน้ำและสบู่บ่อยๆ
ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
ผู้ดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย
คนอื่น ๆ ในบ้าน  ควรอยู่ไกลจากผู้ป่วยประมาณ 1-2 เมตร  หรืออย่างน้อยประมาณหนึ่งช่วงแขน
 

แหล่งข้อมูลการติดต่อเพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

 

1.  กรุงเทพมหานคร  ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร  โทรศัพท์ 0 2245 8106,  0 2246 0358 และ 0 2354 1836

2.     ต่างจังหวัด  ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

 

ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

 

เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข   www.moph.go.th  และหากมีข้อสงสัย ติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333  และศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์  กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์  0 2590 1994  ตลอด 24 ชั่วโมง

i drive / i race / i test / I drift
I row / I run / I fun / I ride