Bike Forum > Folding Bike / Mountain Bike / City Bike / ect..

บทความของคุณ ทวีศักดิ์ บุตรตัน ที่ลงในมติชน

(1/3) > >>

O'Pern:
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1344
สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (1)

ยืนยันนั่งยันมาตลอดว่า จักรยานคือพาหนะที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนทุกแห่ง เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยประหยัดน้ำมันที่กำลังวิกฤต ลดภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สร้างสุขภาพผู้คนให้แข็งแรง และยังช่วยฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนอีกด้วย

ถ้ารัฐบาลไทยหันกลับมาคิดสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางภายในชุมชน และบริเวณในเมืองอย่างจริงจังแล้ว ผมเชื่อว่า เมืองไทยจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

มองย้อนหลังไปช่วงเกือบ 30 ปี ในการพัฒนาประเทศ สังคมเปลี่ยนแปรไปอย่างรวดเร็ว รถยนต์กลายเป็นพาหะที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

รถยนต์มีความหมายมากมายนอกเหนือจากความเป็นพาหนะแล้ว ยังเป็นตัวแทนของค่านิยมของผู้คนในสังคม ใครมีรถยนต์ถือเป็นผู้มีสถานะอีกระดับหนึ่ง ยิ่งมีรถราคาแพงยิ่งแสดงถึงความร่ำรวย ความสำเร็จในชีวิต และยังให้ความเป็นอิสระเพราะการนั่งอยู่ในรถส่วนตัวเท่ากับแปลกแยกออกจากสังคม ชุมชน

หมู่บ้านไหนที่ผู้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมาก หมู่บ้านนั้นแทบจะไม่มีการปะทะสังสรรค์ ต่างคนต่างอยู่ ตื่นเช้าขึ้นมาพากันยกครอบครัวเข้าไปซุกอยู่ในรถเพื่อเดินทางไปโรงเรียน ที่ทำงาน

การทักทายไปมาหาสู่ระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกันค่อยๆ เหือดหายไปในที่สุด

รถยนต์เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเสื่อมลง นอกเหนือจากการเป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อมในอันดับต้นๆ

ชุมชนที่เคยอยู่กันอย่างสงบเงียบ มีอากาศบริสุทธิ์สดใส เมื่อรถยนต์เข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรเปลี่ยน

เสียงแผดดังลั่นจากท่อไอเสียและเครื่องยนต์ ควันพิษที่พ่นออกมาทำให้สุขภาพผู้คนทรุดโทรม โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ หอบหืด และอีกหลายโรค เพราะควันพิษเหล่านั้น

รถยนต์ยังเป็นตัวการคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากๆ จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละวัน

นี่หากนับรวมถึงการเผาผลาญพลังงานจากการใช้และผลิตรถยนต์ การทำลายป่าและการขุดหาวัตถุดิบต่างๆ เพื่อทำเป็นถนนหนทาง สามารถกล่าวได้ว่า รถยนต์คือส่วนสำคัญทำให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานของโลก

หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการใช้รถยนต์และคิดหาทางเลือกเพื่อลดปริมาณรถยนต์มานานแล้วโดยเฉพาะประเทศที่ผลิตรถยนต์รู้ซึ้งต่อปัญหานี้เป็นอย่างดี

ในอังกฤษมีการตั้งเป้าให้ประชาชนหันมาใช้พาหนะ "จักรยาน" ภายในชุมชนมากขึ้นในแต่ละปี มีการศึกษาวางแผนสร้างเส้นทางจักรยานเพื่อเชื่อมโครงข่ายขยายระหว่างบ้านไปยังสำนักงาน โรงเรียน โบสถ์ และแหล่งสันทนาการ มีการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้เส้นทางจักรยาน และการประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อทำให้ผู้ขี่จักรยานมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย

สภาชุมชน "อ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์" ของอังกฤษ กำหนดแผนสนับสนุนให้ชาวเมืองใช้จักรยานภายในชุมชนเพิ่มขึ้นจากปี 2536 มาจนถึงปี 2544 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ถนนภายในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์ ต้องมีเส้นทางจักรยานควบขนานกับทางเดินเท้า ถนนไฮเวย์ถูกกำหนดให้มีทางจักรยานด้วย

ผลของการสนับสนุนการใช้จักรยานใน "อ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์" พบว่า ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปริมาณอากาศเสียและเสียงดังจากรถยนต์ลดลง ขณะที่ความสัมพันธ์ผู้คนภายในชุมชนแนบแน่นมากกว่าเดิม

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งผลิตรถยนต์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับสนับสนุนใช้เส้นทางจักรยานไม่น้อยหน้าประเทศใด

อย่างที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ มีการศึกษา "ไบก์เลน" อย่างละเอียดยิบโดยจัดทำเป็นคู่มือการออกแบบทางจักรยานในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานของทางจักรยาน ควรจะมีความกว้างเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ของถนน โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจร การกำหนดเลนควรจะใช้กี่ช่องทาง ให้เป็นวันเวย์หรือทูเวย์สำหรับคนขี่จักรยาน กำหนดสถานที่จอดรถจักรยาน ทางเลี้ยวหรือทางเชื่อมต่อและการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ทางจักรยานร่วมกับรถบัสโดยสารประจำทาง

เขาทำถึงขนาดกำหนดวัสดุการใช้ตีเส้นทางจักรยานควรจะใช้ประเภทไหนดีเพื่อเห็นได้ชัด อยู่ได้ทนนาน ปลอดภัยทั้งคนขี่จักรยาน คนเดินเท้าและคนขับรถยนต์

พูดถึงเรื่องนี้ยังไม่หายสะใจ คราวหน้ามาว่ากันอีกหน ทำไมต้องเป็น "จักรยาน"

O'Pern:
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1345

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (2)

ผมปั่นจักรยานมาทำงานได้เพียงไม่กี่ครั้งต้องเลิกความพยายาม หลังเจออุปสรรคมากมายซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงเกินความจำเป็นของชีวิต
ผมไม่ต้องการสังเวยความตายด้วยรถเมล์ รถบรรทุกที่พยายามเบียดจักรยานของผมที่วิ่งอยู่ในเลนซ้ายสุด หรือรถเก๋งที่วิ่งรี่เข้าใส่เมื่อผมโบกมือขอทางเลี้ยว

แต่ผมไม่เคยก่นด่าคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่ามาจากสังคมเมืองอันเร่งรีบทำให้น้ำใจแบ่งปันคนใช้ถนนร่วมด้วยกันเหือดแห้ง อย่าว่าแต่จักรยานเลย แม้กระทั่งเด็กหรือคนแก่ข้ามถนน คนขับรถในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยจะยอมเบรกจอดเพื่อให้เขาเหล่านั้นข้ามไปด้วยความสบายใจ

จักรยานของผมจะใช้งานเฉพาะวันหยุดเท่านั้น เส้นทางที่ผมปั่นก็ไม่ไกลจากบ้านนัก บางวันอาจจะปั่นบนทางขนานมอเตอร์เวย์หรือวงแหวนรอบนอก มีรถวิ่งน้อยและมีไหล่ทางให้ปั่นได้โดยไม่ต้องพะวงหลังมากนัก

บางวันปั่นบนถนนรามคำแหงมีเลนกว้าง แต่กระนั้นยังเสี่ยงเนื่องจากรถยนต์แล่นกันเร็วมาก ส่วนเลนจักรยานที่ กทม. เคยทำไว้สมัยก่อนๆ เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่จอดรถเข็นขายลูกชิ้นปิ้ง ส้มตำ หรือแผงลอยสินค้าไปแล้ว

นี่เป็นความล้มเหลวของนโยบายรณรงค์การใช้จักรยานเพื่อการประหยัดพลังงานที่เห็นได้ชัด สาเหตุเนื่องมากจากผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ เห็นเรื่องนี้กระจอกงอกง่อย จึงไม่มีการสานต่อนโยบาย

ถ้าหาก กทม. ทำเลนจักรยานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเชื่อมต่อระหว่างชุมชน สำนักงาน สถาบันการศึกษา สถานีรถไฟฟ้า ป่านนี้จะมีนักปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นมาก การจราจรอาจติดขัดน้อยลงก็เป็นได้ ยิ่งสถานการณ์น้ำมันที่แปรปรวน ราคาถีบตัวใกล้จะถึง 30 บาทต่อลิตร เชื่อว่าคนจะหันกลับมาเห็นความสำคัญกับ "จักรยาน" เหมือนอย่างในต่างประเทศ

คราวที่แล้ว ผมอ้างถึงประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสหรัฐและอังกฤษ มีแนวนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างชัดเจนและทำกันจริงๆ จังๆ ทั้งเรื่องการออกแบบเลนจักรยาน แผนป้องกันอุบัติเหตุและการคิดค้นวัสดุเพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ขี่จักรยานเนื่องจากเขาเห็นความสำคัญกับ "จักรยาน" ซึ่งเป็นพาหนะที่ทีดีที่สุดในการเดินทางในระยะสั้นๆ เท่าที่มนุษย์คิดค้นได้ในขณะนี้

ถ้าเปรียบเทียบรถยนต์กับรถจักรยานในเรื่องของการประหยัดพลังงานนั้น จะเห็นความแตกต่างกันอย่างลิบลับ

รถยนต์ต้องใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ต้องมีน้ำมันหล่อลื่น วัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ ต้องใช้ในปริมาณมากๆ และการผลิตที่มีขั้นตอนซับซ้อน

การก่อสร้างถนนทางหลวงมีมูลค่าสูงมาก กิโลเมตรละ 30 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบถึงความปลอดภัยในการเมื่อรถยนต์มีอุบัติเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างมากมาย เราต้องสร้างโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อรองรับกับอุบัติทางรถยนต์มูลค่าเป็นหมื่นล้าน

เราต้องสูญเสียชีวิตของผู้คนและเกิดคนพิการเพราะอุบัติเหตุ

ขณะที่จักรยาน ใช้พลังงาน "น่อง" เพื่อปั่นล้อเท่านั้น การผลิตรถจักรยานใช้เทคโนโลยีพื้นฐานมาก วัสดุในการผลิตมีสัดส่วนต่ำ

รถจักรยานใช้พื้นที่ของถนนเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ ต่างกันถึง 6 เท่าตัว กล่าวคือ พื้นที่ถนนนั้น ให้รถจักรยานปั่นได้ถึง 6 คัน แต่รถยนต์วิ่งได้แค่ 1 คัน

สำหรับที่จอดรถยนต์ซึ่งต้องใช้พื้นที่กว้างขวางกว่า เมื่อเอารถจักรยานเข้าไปจอดแทนสามารถจอดได้ 20 คัน

เมื่อคิดเรื่องระยะเวลาการเดินทาง ในช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด การปั่นจักรยานใช้เวลาที่สั้นกว่ามาก

มีคนคำนวณว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ในกรุงเทพฯ ใช้เวลานั่งอยู่ในรถเฉลี่ยปีละ 44 วัน นั่นหมายความว่า ถ้าเราเวลาที่สูญเสียเพราะการนั่งอยู่ในรถไปทำงานจะได้งานเพิ่มขึ้นอีก 44 วัน

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงมลพิษจากควันรถยนต์ทำลายสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนนั้นๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายตามมาอีก

ปัจจุบันองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (โออีซีดี) จัดทำวิจัยเรื่องจักรยานและอุปกรณ์ชิ้นส่วนจักรยานเพื่อเสนอต่อองค์การการค้าโลกกำหนดเป็นสินค้าที่ปลอดจากพิกัดภาษีศุลกากรเพราะถือว่าจักรยานคือพาหนะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


O'Pern:
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1346

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (3)

ในการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีการค้าของสมาชิกองค์การการค้าโลก ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2545 มีเสียงเรียกร้องให้สมาชิกพิจารณาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรืออีอีพี (EPPs-Environmentally Preferable Products) และการบริการที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่าควรจะลดพิกัดภาษีศุลกากรหรือไม่ต้องคิดภาษี และยกเลิกการกีดกันสินค้าเหล่านี้ได้หรือเปล่า
อีกสองปีต่อมาคือในปี 2547 โออีซีดี ร้องขอให้บรรดาสมาชิกโออีซีไปศึกษาถึงผลดีของอีพีพี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ปรากฏว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าสินค้าอีพีพีจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

ซึ่งจักรยานเป็นหนึ่งในสามของสินค้าอีพีพี

พอมาถึงกลางปีที่แล้ว สมาชิกโออีซีดีประชุมกันที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้ข้อสรุปว่าจักรยาน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมจักรยานคือสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมจากนั้นได้ยื่นข้อเสนอนี้ต่อองค์การการค้าโลก

บรรดาสมาชิกองค์การการค้าโลกเชื่อว่า จักรยานจะกลายเป็นสินค้าที่มีบทบาทสำคัญของโลกในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากภาวะสิ่งแวดล้อมโลกบีบบังคับให้คนต้องหันมาใช้พลังงานอย่างประหยัด พลังงานสะอาดและเสริมสร้างสุขภาพของมนุษย์

จักรยานรองรับเหตุผลนี้ได้ทั้งหมด

ความนิยมใช้จักรยานลดลงมาเรื่อยๆ เพราะคนหันไปขับรถยนต์ซึ่งเป็นพาหนะที่มีความเร็ว ความสะดวกคล่องตัว แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงระหว่างปี 2513 กระตุกความรู้สึกของคนทั้งโลก

คนกลัวน้ำมันแพง ขาดแคลน จึงหันกลับมาใช้จักรยานกันอีกครั้ง ประกอบกับกระแส "เขียว" ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ช่วยกระพือ "โลก" ของจักรยานให้แรงขึ้น เพียงระยะสิบปี คือตั้งแต่ 2516-2526 ความต้องการจักรยานทั่วโลก เพิ่มจาก 52 ล้านคัน เป็น 74 ล้านคัน และในปี 2543 ประเทศต่างๆ ผลิตจักรยานได้ถึง 101 ล้านคัน

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับจักรยานมากๆ ก็คือยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ วางแผนโครงการ "จักรยาน" อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การออกแบบจักรยาน ไปจนถึงการก่อสร้างทางจักรยานเพื่อเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ และการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในการใช้จักรยานเป็นพาหนะเพื่อการเดินทาง สันทนาการและเพื่อสุขภาพ

โครงการ "จักรยาน" ของประเทศเหล่านั้น ทำได้ผลเกินคาด

ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เป็นหนึ่งในเมืองอันมั่นคั่งที่สุดในโลกนั้น สร้างทางจักรยานเชื่อมกับเส้นทางรถไฟ รถบัส เกือบทั่วประเทศ

คนในชุมชนปั่นจักรยานไปจอดที่สถานีซึ่งทำเป็นลานจอดจักรยานเฉพาะ หิ้วกระเป๋าขึ้นรถไฟหรือรถบัสไปทำงานในเมือง

ปริมาณรถยนต์ในสวีเดน ลดวูบอย่างรวดเร็ว

เวลานี้คนสวีเดนในชุมชนนอกเมืองปั่นจักรยานราว 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เดินทางเท้าที่คู่ขนานกับทางจักรยาน มีเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ขับรถยนต์ไปทำงานส่วนที่เหลือนั่งรถบัสและรถไฟ

เนเธอร์แลนด์ ก็ถือเป็นเมืองจักรยานของโลก เส้นทางจักรยานเชื่อมไปทุกชุมชน สถานีรถไฟในนครอัมสเตอร์ดัม มีอาคารจอดรถจักรยานสูงถึง 3 ชั้น ในวันทำงานนั้นจักรยานจอดแน่นเอี๊ยดเต็มไปหมด

เส้นทางจักรยานในเนเธอร์แลนด์วัดรวมกันแล้วยาวถึง 19,000 กิโลเมตร

ส่วนเยอรมนี เมืองแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ กลับก้าวล้ำหน้าใครๆ เพราะเขาทำทางจักรยานเชื่อมทั้งประเทศกว่า 31,000 กิโลเมตร

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ แต่กลับส่งเสริมการใช้รถยนต์มากกว่า "จักรยาน"

O'Pern:
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1347

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (4)

อ่านอี-เมลของ คุณนิคม บุญญานุสิทธิ์ จากสาขาวิชาการจัดการผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ส่งมาถึงผมเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้เห็นความพยายามอันน่าชื่นชมของคุณนิคมที่ต้องการผลักดันให้มีเส้นทางจักรยานรอบคูเมืองนครราชสีมา

คุณนิคมสำรวจเส้นทางเกือบทุกซอกซอยอย่างละเอียด ควรจะปรับปรุงเส้นทางในโคราชให้เป็นทางจักรยานได้อย่างไร ตรงไหนเป็นจุดที่มีปัญหา นอกจากนี้ ยังคำนวณงบประมาณการก่อสร้างทางจักรยานให้เสร็จสรรพแถมยังคิดถึงการใช้ทางจักรยานร่วมกับคนเดินเท้าและคนพิการ เช่น ขอบทางถนน ให้ทำลาดชันเพื่อให้รถเข็นคนพิการใช้ร่วมได้ด้วย
โครงการเส้นทางจักรยานของคุณนิคมทำมานานตั้งแต่ปี 2541 นำเสนอไปถึงผู้บริหารเมืองและผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ไม่เกิดอะไรเป็นรูปธรรม

"ผมว่าข้อบกพร่องอย่างหนึ่งของท้องถิ่นเราก็คือผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องกายภาพเมืองและผลกระทบของการพัฒนา การวางแผนจราจรส่วนใหญ่เป็นการวางแผนเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์เกิดความสะดวกเป็นหลัก ทำให้เพิ่มภาระกับคนเดินเท้าและขี่จักรยาน" คุณนิคมตัดพ้อผ่านอี-เมล

ในอี-เมลยังบรรยายต่ออีกว่า เมื่อพูดถึงทางจักรยานส่วนใหญ่มักคิดไปเป็นทางเฉพาะหรือการขี่จักรยานบนถนนและมักคิดว่าไม่มีความจำเป็นเพราะส่วนใหญ่คนขี่จักรยานก็ใช้พื้นที่ถนนอยู่แล้ว

"ผมพยายามที่จะสร้างแนวคิดว่าจักรยานก็คือคนที่เดินเร็ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าตรงไหนที่คนเดินได้ก็ควรจะให้ขี่จักรยานได้ ยกเว้นบริเวณที่คนพลุกพล่านต้องจูงจักรยาน

คำถามที่ตามมาก็คือแล้วจักรยานจะไม่เป็นอุปสรรคต่อคนที่เดินเท้าหรือ เพราะคนเดินเท้าต้องหลบหลีกจักรยาน ซึ่งก็มีคำอธิบายคือคนที่ขี่จักรยานต่างหากที่ต้องระวังคนเดินเท้าและต้องชะลอความเร็วโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อมีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า อาจจะขลุกขลักบ้าง แต่ยังพอใช้ร่วมกันได้เพราะจักรยานชนคนเดินเท้าก็แค่บาดเจ็บไม่ถึงตาย แต่ถ้าให้จักรยานลงไปวิ่งบนถนนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จักรยานจะบาดเจ็บหรืออาจตายได้"

คุณนิคมปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงกันก่อนสร้างทางจักรยานก็คือทางเท้าที่ทุกวันนี้แทบทุกท้องถิ่นยังไม่ให้ความสำคัญ หากสามารถทำทางเท้าได้เรียบเสมอกันไม่มีอุปสรรคกีดขวางทางเท้า มีการประกับตกแต่งให้เกิดความเพลิกเพลินในการเดินตลอดเส้นทาง คนจะเดินเท้าได้สะดวกมากขึ้น ขั้นต่อมาจะสามารถกำหนดให้ทางเท้าใช้เป็นทางจักรยานร่วมกันได้ เมืองจะเกิดเส้นทางจักรยานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

นอกจากทำข้อมูลสำรวจเส้นทางแล้ว คุณนิคมยังทำเว็บไซต์ www.archkorat.com/bicycle เผยแพร่โครงการ และอธิบายแนวคิดรวมทั้งรวบรวมข้อมูลเรื่องของเส้นทางจักรยานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่อังกฤษ อินเดีย อิสราเอล เยอรมนี ออสเตรเลีย ชิลี หรือในเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา พร้อมภาพประกอบค่อนข้างละเอียดซึ่งน่านับถือในความพยายาม

และนี่เป็นหนึ่งความคิด ของนักนิยมปั่นสองล้อและเห็นอนาคตของจักรยานว่าจะต้องเป็น "พาหนะ" ที่โลกต้องกลับหันกลับมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนความคิดดีๆ อย่างนี้จะซึมซับผ่านผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อไหร่นั้น คงต้องว่ากันอีกเรื่อง

O'Pern:
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1349
สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ทำไมต้อง"จักรยาน" (5)

สํานักงานบริหารทางหลวงแห่งสหพันธรัฐ (The Federal Highway Administration : FHWA) สหรัฐอเมริกา ขึ้นกับกระทรวงการขนส่ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องสร้างระบบการขนส่งให้สอดคล้องกับเมือง คือ ทำถนนให้ขนส่งสินค้า ผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ขณะเดียวกัน ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองผู้พิการ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว การก่อการร้าย

รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ชุมชนอยู่ได้อย่างมีชีวิตชีวา คนเดินทางเท้าและคนขี่จักรยานสามารถใช้เส้นทางได้ร่วมกัน ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติอันจำกัด

แนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นวิสัยของผู้นำประเทศสหรัฐซึ่งเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก แต่มองเห็นอนาคตของพลังงานจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และเตรียมแผนรองรับให้คนที่ใช้รถยนต์จะหันมาพึ่งพาพลังงานอื่นๆ

"ทอม ลาร์สัน" อดีตผู้บริหารของสำนักงานดังกล่าว ยก "อัมสเตอร์ดัม" เมืองท่าแห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของเมืองจักรยานที่มีประสิทธิภาพทั้งการเดินทางอย่างประหยัดพลังงาน ไร้มลพิษ สะอาดและเงียบ มีผลกระทบทางสิ่แวดล้อมต่ำ ขณะที่การใช้พื้นที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบพาหนะชนิดอื่นๆ

เส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าถูกสร้างควบขนานไปกับการขยายตัวของชุมชนเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งบนเส้นทางร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ (The Intermodal Surface Transportation Efficiency Act of 1991) และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งอย่างเสมอภาคเพื่อศตวรรษที่ 21 (The Transportation Equity Act for the the 21st Century) มีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติประชาชนที่ใช้เส้นทางทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับเมืองไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

สำนักงานสถิติด้านการขนส่งของสหรัฐ พบว่า คนอเมริกันขี่จักรยานเฉลี่ย 33 ล้านคน ในจำนวนนี้เดือนหนึ่งจะขี่จักรยาน 6 วัน ส่วนคนเดินเท้าเพื่อไปทำงานเฉลี่ย 140 ล้านคน

เมื่อห้าปีที่แล้วพบว่า คนเดินเท้าเกือบ 5 พันคน และนักปั่นจักรยาน 700 คน เสียชีวิตเนื่องมาจากรถยนต์ชน

อุบัติเหตุดังกล่าวนำไปสู่การปรับปรุงการก่อสร้างถนน ทางเดินเท้าและทางจักรยานให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ในเวลาเดียวกัน หน่วยงานอื่นๆ กระโดดเข้ามาร่วมช่วยกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ทางจักรยาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Department)

กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐ มองเห็นปัญหาสุขภาพคนอเมริกันซึ่งเป็นโรคอ้วนกันมากเพราะกินดีอยู่ดีเกินไป แต่ออกกำลังกายน้อย จึงสนับสนุนให้รัฐบาลสร้างทางเท้าทางจักรยานเพื่อให้คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

ส่วนกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมินั้น เกิดปิ๊งไอเดียจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 เมื่อกลุ่มก่อการร้ายถล่มตึกเวิร์ลด์เทรดและเพนตากอน จึงคิดให้ทางจักรยานและทางเท้าเป็นทางอพยพฉุกเฉินเมื่อมีเหตุก่อการร้าย

แทร็กจักรยาน "เมาต์เวอร์มอน" ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย เชื่อมต่อระหว่างกระทรวงกลาโหม สนามบินแห่งชาติ "เรแกน" เป็นเส้นทางอพยพฉุกเฉิน สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11

วงการตำรวจสหรัฐ เปลี่ยนโฉมหน้าในการป้องกันความปลอดภัยให้กับชุมชนเมือง แทนที่จะขับรถยนต์ตรวจการณ์ หันมาปั่นจักรยานสายตรวจแทน ทีมสายตรวจที่ขี่จักรยานออกตรวจพื้นที่ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก กองกำลัง "จักรยาน" มีจำนวนราว 4 ใน 5 ของสถานีตำรวจทั่วสหรัฐ

จักรยานสายตรวจเหล่านี้ มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงจุดเกิดเหตุสูงกว่ารถสายตรวจ ทำให้การจับกุมคนร้ายได้เร็วกว่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจักรยานต่ำกว่ารถสายตรวจหลายเท่าตัว

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจปั่นจักรยานมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และบางคนกลายเป็นนักกีฬาระดับ "แชมป์"

นอกจากนี้ การออกกฎหมาย "อากาศสะอาด" หรือ Clean Air Act ในปี 2543 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองต่างๆ ของสหรัฐต้องพัฒนาเส้นทางจักรยานและทางเท้าให้มีมาตรฐานสูงและขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากกฏหมายดังกล่าวป้องกันยานพาหนะพ่นควันพิษใส่ชุมชน

ยังมีสถิติที่ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของ "จักรยาน" ในทางธุรกิจอีกอย่าง นั่นคือ "จักรยานส่งเอกสาร"

เมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอย่างมหานครนิวยอร์ก แอลเอ หรือชิคาโก เจอปัญหา "จราจร" ติดขัด บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างหันมาพึ่งพา "ไบก์ แมสเซนเจอร์"

แต่ละปีบริษัท "ไบซีเคิล แมสเซนเจอร์" ในมหานครนิวยอร์ก ทำรายได้เป็นมูลค่า 700 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินบาทเบาะๆ ปาเข้าไปกว่า 27,000 ล้านบาท

Navigation

[0] Message Index

[#] Next page

Go to full version